บราวน์และอาร์เจ สองสติ๊กเกอร์ยอดฮิตที่พนักงานออฟฟิศขาดไม่ได้

ในยามเช้าอันแสนเรื่อยเปื่อย แสงแดดส่องเข้ามาแยงตา ปลุกให้คุณต้องตื่นขึ้นมาด้วยความงัวเงีย สิ่งแรกที่คุณทำเป็นอันดับแรกคืออะไร? คงจะหนีไม่พ้นการจับมือถือขึ้นมาเช็กข้อความทางโซเชียล แต่สำหรับพนักงานออฟฟิศ นอกเหนือจากการเช็กอัปเดตแล้ว ก็คงเป็นการตอบข้อความจากหัวหน้า ก่อนจะกลับไปลุยงานกันต่ออีกวัน

ในปัจจุบัน หนึ่งในแอปพลิเคชันที่เป็นที่นิยมมากที่สุด นอกเหนือจากเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ก็คงจะเป็นไลน์ที่ผู้คนใช้ในการสื่อสารกันมากที่สุด

หนึ่งในลูกเล่นที่น่าสนใจและทำให้ไลน์ได้รับความนิยม ก็คงจะหนีไม่พ้น “สติ๊กเกอร์” ตัวละครหรือตัวการ์ตูนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นภาพแทนอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ใช้งานในแต่ละบทสนทนา ซึ่งไลน์ก็มีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย ทั้งแบบฟรีและแบบที่เสียเงินซื้อ

และสำหรับพนักงานออฟฟิศ สติ๊กเกอร์ที่นิยมมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “หมีโค้ง” และ “แกะโค้ง” ที่สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นทักทายยามเช้า ขอบคุณ รับทราบ ตกลง เรียกได้ว่าไม่รู้จะตอบอะไรเพียงแค่ส่งเจ้าสติ๊กเกอร์นี้ไปก็หมดปัญหา

แต่รู้หรือไม่? ว่าเจ้าสติ๊กเกอร์สองตัวนี้ก็มีที่มา นอกจากนี้ยังมีเรื่องลับ ๆ ที่ทุกคนอาจจะไม่เคยรู้กันมาก่อน

ถ้าอยากรู้ว่าเรื่องลับที่ว่านี้คืออะไร งั้นเราก็ไปรู้พร้อม ๆ กันเลยดีกว่า กับเรื่องราวของสติ๊กเกอร์ดีเด่นทั้งสองตัว

ไม่ใช่แกะแต่เป็นอัลปาก้า

เรื่องลับอย่างแรกนั่นคือ เจ้าสติ๊กเกอร์ที่เราคิดว่ามันคือ “แกะโค้ง” แท้จริงแล้วไม่ใช่แกะ แต่มันคืออัลปาก้าต่างหาก! นอกจากนี้เจ้าอัลปาก้าตัวนี้ยังมีชื่ออีกด้วย!

โดยชื่อของมันคือ “อาร์เจ” (RJ) มีฉายาว่า อัลปาก้าผู้ใจดี เป็นตัวการ์ตูนจาก BT21 จากสติ๊กเกอร์ในแอปพลิเคชัน LINE ออกแบบโดย คิมซอกจิน วง BTS ถึงจะดูอบอุ่น แต่เจ้าอาร์เจกลับขี้หนาวซะงั้น

โดยชื่อ BT มาจาก BTS และ 21 หมายถึงศตวรรษที่ 21 ซึ่งรวมตัวกันเพื่อเป้าหมายที่เดบิวต์จะเป็นศิลปินวงใหม่ และส่งต่อความรักให้ทุกคนบนโลกต่อไป

บราวน์ เจ้าหมีหน้าตายกับเรื่องลับ(?)ที่อาจไม่เคยรู้

นอกจากอาร์เจ อีกหนึ่งคาแรคเตอร์ที่เราจะพูดถึงก็คือเจ้าบราวน์ หมีสีน้ำตาลที่มาพร้อมกับท่าโค้งคำนับ เป็นอีกหนึ่งคาแรคเตอร์ยอดนิยมที่เรามักจะเห็นกันแทบจะทุกวัน

โดยเจ้าบราวน์ มีประวัติเป็นของตัวเอง อีกทั้งยังมีเรื่องราวอันน่าสนใจอีกด้วย โดยเจ้าบราวน์ มีอาชีพเป็นพนักงานออฟฟิศหรือเดลิเวอรี่แมน เกิดในวันที่ 8 สิงหาคม อีกทั้งยังมีอายุถึง 34 ปีแล้วด้วย! นอกจากนี้บราวน์ยังมีภรรยาเป็นตัวเป็นตนอีกต่างหาก!!

ซึ่งภรรยาของเจ้าหมีบราวน์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นโคนี่ เจ้ากระต่ายที่เป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์ของ Line Friend เช่นเดียวกับบราวน์นั่นเอง

เจ้าหมีบราวน์เป็นหนุ่มหมีหน้าตายที่ไม่เคยแสดงสีหน้าออกมาแม้แต่น้อยไม่ว่าจะรู้สึกอะไรอยู่ แต่เวลาโมโหก็น่ากลัวยิ่งกว่าโคนี่ แฟนสาวเขาเสียอีก ถึงแบบนั้นเขาก็เป็นหมีหนุ่มที่เทคแคร์และอ่อนโยนกับแฟนสาวมากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทั้งอาร์เจและบราวน์ที่ทุกคนใช้กันอยู่ทุกวัน ไม่ได้เป็นเพียงสติ๊กเกอร์ทั่วไป แต่ถูกออกแบบมาโดยมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน และมีเป้าหมายที่แฝงอยู่อีกด้วย แล้วเป้าหมายที่ว่าคืออะไรกันล่ะ? เรามารู้ไปพร้อม ๆ กันเลย

Line Sticker กับการผลักดันให้ผู้บริโภคสร้างสติ๊กเกอร์ของตัวเอง

Character Design หรือการออกแบบตัวละครมีประวัติศาสตร์มายาวนาน บางประเทศใช้ตัวการ์ตูน เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมมีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน บางยุคบางสมัยใช้เป็นตัวแทนฮีโร่ หรือบุคคลที่ลุกขึ้นมาทำความดี เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

โดยเจ้าตัวละครสมมุติเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งในประเทศฝั่งตะวันตกและประเทศฝั่งตะวันออก จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในที่สุด

ผู้เสพงานการ์ตูนล้วนมีตัวการ์ตูนในดวงใจที่มีบุคลิกแตกต่างกัน อีกทั้งปัจจุบันเทคโนโลยีได้เอื้อให้สามารถสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ แอปพลิเคชันสื่อสารยอดนิยมอย่าง LINE ที่ออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้คนหันมาสร้าง สติ๊กเกอร์ไลน์ เพื่อจำหน่ายและกระตุ้นการซื้อและโหลดใช้งาน

เจ้าอาร์เจ อัลปาก้าที่ถูกออกแบบโดยศิลปินวง BTS ก็เช่นกัน โดย BT21 เป็นโครงการแรกของ LINE FRIENDS CREATORS เปิดตัวช่วงปลายปี 2017

เกิดจากความร่วมมือระหว่าง LINE FRIENDS และ BTS วงบอยแบนด์ศิลปินจากเกาหลี ซึ่งสมาชิก BTS ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่วาดภาพสเก็ตช์ไปจนถึงรายละเอียดเพิ่มเติมต่าง ๆ โดย Character เหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ให้ดาวน์โหลด และยังนำไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ เพื่อวางจำหน่ายที่ร้าน LINE Friends ทั่วโลกอีกด้วย

LINE FRIENDS CREATORS จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการเปลี่ยนมุมมองให้ผู้บริโภค ได้หันกลับมาเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานเองด้วย

ทั้งยังช่วยผลักดันให้ระบบตลาดมีการขับเคลื่อน เกิดความต้องการ และเกิดการซื้อขายไปโดยอัตโนมัติ ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สร้างความตระหนักถึงมูลค่าในผลงานสร้างสรรค์ได้อีกด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.