ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีเลือกภาชนะอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟให้ปลอดภัย

อาจารย์ฟิสิกส์ จุฬาฯ ย้ำภาชนะพลาสติกสามารถใช้อุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย ระบุต้องใช้พลาสติกสำหรับเข้าเตาไมโครเวฟเท่านั้น ชี้การทดลองในต่างประเทศที่พบไมโครพลาสติกในน้ำยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ขอผู้บริโภคอย่าเพิ่งตระหนก

รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เตาไมโครเวฟ เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับอุ่นอาหาร โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ไมโครเวฟ ทำให้อาหารสุกได้ในระยะเวลาสั้น มีความปลอดภัย อำนวยความสะดวกในการปรุงอาหารได้มาก โดยเฉพาะตามร้านสะดวกซื้อ เหมาะสำหรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ จึงเป็นที่นิยมในทุกครัวเรือน

สำหรับกลไกการทำงานของเตาไมโครเวฟ เกิดจากน้ำที่อยู่ในอาหาร ซึ่งดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่ไมโครเวฟได้ดีที่สุด ทำให้โมเลกุลของน้ำสั่นสะเทือน เสียดสีจนเกิดความร้อนขึ้น ทำให้อาหารร้อนและสุก ซึ่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันตรายกับมนุษย์ และสามารถพบเจอคลื่นไมโครเวฟได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น เราเตอร์ ไวไฟ (router wifi)

การอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ ยังคงคุณค่าสารอาหารมากกว่าการให้ความร้อนชนิดอื่น เพราะใช้ความร้อนในระยะเวลาที่น้อยกว่า ทั้งนี้คลื่นไมโครเวฟไม่มีการทิ้งของเสียหรือสารเคมีลงไปในอาหาร เพราะเป็นเพียงคลื่นที่วิ่งผ่านไปมา จึงไม่ได้ก่อให้เกิดเป็นมะเร็ง

รศ.ดร.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “ข้อควรระวังในการใช้เตาไมโครเวฟ ควรเลี่ยงภาชนะที่เป็นโลหะ เช่น จาน-ชามที่มีขอบทอง หรือช้อนส้อม ที่อาจเผลอใส่เข้าไป แม้แต่ฟอยล์ก็ตาม คลื่นไมโครเวฟที่เจอโลหะ จะทำให้อิเล็กตรอนที่อยู่ในโลหะขยับไปมาอย่างรวดเร็ว และอาจเกิดประกายไฟทำให้ตู้เสียหายได้ ส่วนการระเบิดเกิดจากการนำอาหารบางอย่างเข้าไป อาทิ การทำไข่ต้ม เพราะภายในไข่มีน้ำอยู่ ความร้อนจะทำให้น้ำขยายตัวและเกิดความดันขึ้นทำให้ไข่แตกระเบิดได้ ส่วนภาชนะที่เหมาะสมสำหรับใส่เตาไมโครเวฟ คือ จานกระเบื้อง แก้ว และเซรามิก”

นอกจากนี้ หากเป็นภาชนะพลาสติก ควรเลือกใช้ภาชนะพลาสติกคุณภาพดีสำหรับเข้าเตาไมโครเวฟเท่านั้น ซึ่งสังเกตได้โดยพลิกดูเครื่องหมายสามเหลี่ยม ซึ่งจะมีตัวเลขระบุชนิดของพลาสติก โดยเบอร์ 1 จะเป็นพลาสติกประเภท PET (Polyethylene Terephthalate) และเบอร์ 5 จะเป็นประเภท PP (Polypropylene) ที่สามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟได้เพราะมีจุดหลอมเหลวสูง ข้อควรระวังแม้ว่าจะเป็นพลาสติก PET แต่ต้องมีระบุว่า ไมโครเวฟเซฟ (Microwave Safe) ด้วย โดยผู้ผลิตที่เชื่อถือได้และใส่เครื่องหมายนี้บนภาชนะ แสดงให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าภาชนะพลาสติกนั้นสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่แนะนำให้นำกลับมาใช้ซ้ำ

กรณีการเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่องเตาไมโครเวฟ โดยนำผลงานวิจัยจากหลายแห่งมารวมกัน และให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการสลายตัวของพลาสติกเป็นไมโครพลาสติกด้วยการใช้เตาไมโครเวฟ โดยผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ได้ทำวิจัยทดลองนำขวดนม PP ของเด็กใส่น้ำและเติมกรดลงไปเล็กน้อย เป็นการจำลองเหมือนใส่อาหาร จากนั้นนำเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ 3 นาที และนำไปตรวจหาไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติก พบว่ามีจำนวนในระดับพันล้านชิ้น ต่อพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตรของพลาสติก

จากนั้นมีการทำวิจัยต่อ โดยนำเนื้อเยื่อของตับไปแช่ในสารละลายที่มีไมโครพลาสติกปริมาณสูง พบว่าเนื้อเยื่อเหล่านั้นตาย แต่งานวิจัยสองส่วนนี้มีความเข้มข้นของปริมาณไมโครพลาสติกต่างกันมากถึงหลักล้านเท่า จึงไม่สามารถเชื่อมโยงงานวิจัยกันได้โดยตรงว่าไมโครพลาสติกทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อตับของผู้บริโภค

แม้ว่าการวิจัยดังกล่าวจะพบไมโครพลาสติกอยู่จริง และกล่าวอ้างว่าเด็กที่กินนมจากน้ำที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟจะได้รับไมโครพลาสติก แต่ไม่ได้เป็นปริมาณที่ยืนยันทางการแพทย์ว่ามากพอที่จะทำให้เด็กได้รับอันตราย ทั้งนี้ ไม่เคยมีการทดลองกับมนุษย์ด้วยการดื่มน้ำและเจาะเลือดหาไมโครพลาสติก จึงไม่อาจทราบได้ว่าร่างกายสามารถกำจัดไมโครพลาสติกเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด แม้จะพบงานวิจัยในหนู หรือเนื้อเยื่อของหนูบางสายพันธุ์นั้นเกิดขึ้นจริง แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าปริมาณนั้นถือว่าน้อยหรือมากและอันตรายหรือไม่

ทั้งนี้ไมโครพลาสติกยังสามารถพบได้โดยทั่วไปในชีวิตประจำ เช่น เวชสำอาง ลิปมัน เกลือ หรือแม้แต่ถุงชา จึงยังต้องใช้การวิจัยอีกพอสมควรจึงจะทราบถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งปัญหาของการทดลองประเภทนี้ คือ ขาดกลุ่มควบคุม (control group) เพราะปัจจุบันไม่มีมนุษย์ที่ไม่เคยเจอไมโครพลาสติกเลย มาทดลองเจาะเลือดเพื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ที่เจอไมโครพลาสติกอยู่เป็นระยะในชีวิตประจำวัน

รศ.ดร.สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟยังไม่เคยพบปัญหาที่ทำให้มนุษย์เกิดการเจ็บป่วยหรือเกิดโรคภัย ทั้ง ๆ ที่มีการใช้เตาไมโครเวฟอย่างแพร่หลายเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันที่ดีว่าอาหารที่อุ่นจากเตาไมโครเวฟไม่สร้างปัญหาสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ สิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักคือ การเลือกภาชนะที่ใช้อย่างเหมาะสม และเตาไมโครเวฟต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน เพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะมั่นใจในการใช้งานเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย

ที่มา: ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.