นักวิจัยจุฬาฯ พบ “สารเคมีจากกลิ่นเหงื่อ” บ่งชี้ภาวะเครียด-ป่วยซึมเศร้า
ปัญหาสุขภาพจิตกำลังคุกคามคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างหนักหน่วง อันเนื่องมาจากความเครียดจากการทำงาน การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การไม่มีสมดุลงานและชีวิต รวมไปถึงปัญหาภายในครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดประชาชนเกิดความเครียดสูงอย่างไม่รู้ตัว และอาจพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่ม-ซึมเศร้าเพิ่ม 1-2 เปอร์เซ็นต์ โดยสถิติปี 2564 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน สอดคล้องกับผลการศึกษาของ WHO ที่ชี้ว่าในปี 2572 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายที่พบมากเป็นอันดับสองของโลก ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยทางจิตเวชและซึมเศร้าเพิ่มขึ้นไม่มากนักนั้นในแต่ละปี เป็นเพราะคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังป่วย อาย หรืออาจมีความเข้าใจเรื่องโรคยังไม่มากพอ กลัวคนจะมองว่าเป็นบ้า จึงไม่ได้มาพบจิตแพทย์
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ยังระบุอีกว่า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 100 คน จะเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น พบว่าเพศหญิงมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย แต่เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า และผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ความเครียดสูงจากการทำงาน มีปัญหาสุขภาพจิต
จากข้อมูลที่ระบุว่าทุกวันนี้มีคนไทยราว ๆ 1.5 ล้านคนประสบกับปัญหาสุขภาพจิต ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย โดยพบว่าคนจำนวนร้อยละ 49.36 หรือเกือบครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวมีภาวะเครียดและซึมเศร้าเนื่องมาจากการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่ทำงานที่มีความเสี่ยงสูง คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยของสาธารณะ รวมถึงหน้าที่ที่ต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดันและภาวะเร่งด่วน
โดยสัญญาณทั่วไปที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยกำลังเครียดเรื่องงาน ในทางร่างกาย ความเครียดทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น กล้ามเนื้อตึงตัวเพิ่มขึ้น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน เช่น ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย นอนไม่หลับ ซึ่งถ้ามีอาการเข้าข่ายลักษณะนี้ ควรเข้าร่วมการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
อย่างไรก็ตาม อีกปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาหลังพบว่าคนกลุ่มนี้มีความเครียดในระดับที่ควรพบแพทย์ก็คือ โอกาสในการเข้าถึงและพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาสุขภาพจิตของตนเองนั้นเป็นเรื่องยาก ด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในประเทศไทย และที่สำคัญ คือเรื่องของแนวทางการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยผู้ป่วยจิตเวช ที่ยังต้องอาศัยดุลยพินิจของบุคลากรด้านจิตเวชเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่แม่นยำเท่าที่ควร ในผู้ป่วยรายที่อาการอาจยังไม่ชัดเจนมาก จนทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจได้รับการรักษาล่าช้าเกินไป
กลิ่นเหงื่อบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด
จากการพยายามแก้ปัญหาการคัดกรองคนทำงานที่มีภาวะเครียด ทีมนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการศึกษาหา “สารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ” โดยนำร่องวิจัยกับนักผจญเพลิง 1,084 คนจากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร จึงนับเป็นครั้งแรกที่พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อที่สามารถบ่งชี้สภาวะความเครียดสูงและภาวะซึมเศร้าของกลุ่มประชากรในกรุงเทพฯ ซึ่งผลการทดสอบนั้นมีความแม่นยำถึงร้อยละ 90 เลยทีเดียว
สำหรับการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ ถูกต่อยอดมาจากการศึกษาช่วงการระบาดโรคโควิด-19 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และทีมงาน ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นสารเคมีในเหงื่อ ที่มีการลงพื้นที่ไปตรวจคัดกรองให้ชุมชน ตลาด และโรงเรียนบางแห่งในกรุงเทพมหานคร จึงเดินหน้าวิจัยหาสารเคมีบ่งชี้ความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ โดยทำงานร่วมกับแพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเดินหน้าตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในคนกลุ่มอาชีพที่มีความเครียดจัดและมีความเสี่ยงสูงอื่น ๆ หวังลดปัญหาสุขภาพจิตและความรุนแรงในสังคม
ซึ่งแม้ว่าปกติแล้วผู้ที่มีอาชีพเหล่านี้จะได้รับการตรวจสุขภาพกายและจิตประจำปี แต่การตรวจสุขภาพจิตปีละครั้งนั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะบางรายอาจมีอาการเครียดหรือซึมเศร้าระหว่างปี ช่วงที่ไม่ได้มีการตรวจคัดกรอง อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเข้าถึงและพบจิตแพทย์ เนื่องจากจำนวนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชในไทย รวมไปถึงแนวทางการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยด้วยการสัมภาษณ์ ที่ผลจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ทำให้ผลการวินิจฉัยอาจแตกต่างกันและไม่อาจสรุปได้อย่างแม่นยำ
ทีมวิจัยจากจุฬาฯ และภาคเอกชน จึงพยายามหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง เพื่อใช้ในการคัดกรองสภาวะทางจิตของผู้ที่มีความเครียดก่อนพบจิตแพทย์ ด้วยวิธีการตรวจหาสารเคมีจากกลิ่นเหงื่อ ซึ่งพบว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นสารที่ได้จากตัวผู้ป่วยเอง และไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดให้เจ็บตัว จึงมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า
ซึ่งนักผจญเพลิงที่เข้าร่วมวิจัยในโครงการนี้ก็กล่าวพ้องกันว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตและทราบสภาวะจิตใจของตัวเองได้แม่นยำกว่าการตรวจสุขภาพจิตด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยา ที่พอได้ทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ก็จำได้ว่าต้องตอบอะไร หรือบางทีอาจเข้าไปดูเฉลยจากอินเทอร์เน็ตมาตอบ ทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อน ไม่สะท้อนความเป็นจริง ในขณะที่การวัดด้วยสารเคมีที่ได้จากตัวของพวกเขาเองจะให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำกว่า ถึงแม้ว่าการตรวจเหงื่อจะมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า แต่การตรวจวินิจฉัยสุขภาพจิตโดยบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น
การตรวจกลิ่นเหงื่อเพื่อบ่งชี้ภาวะความเครียดสูงและซึมเศร้า
จากการนำร่องวิจัยกับนักผจญเพลิง 1,084 คนจากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ตรวจหากลุ่มสารเคมีความเครียด (แบบระเหยง่าย) ในเหงื่อของคนกลุ่มใหญ่ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน และเป็นความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการทำงานและในชีวิตประจำวันจริง ๆ ไม่ได้เป็นความเครียดที่เกิดจากการควบคุมหรือจำลองสถานการณ์ขึ้นเหมือนการศึกษาอื่น ๆ ที่ผ่านมา
หลักการก็คือ ผู้ที่เป็นโรคเดียวกันมักจะมีสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่เหมือนกัน คล้ายกันกับกรณีนี้ หากตรวจพบว่าใครที่มีสารเคมีกลุ่มนี้ในปริมาณที่เกินเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์ ก็น่าจะสามารถระบุได้ว่าคน คนนั้นมีความเครียดสูงหรืออาจเป็นซึมเศร้าได้ โดยความแม่นยำในการระบุผลจากกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
ส่วนวิธีการตรวจคัดกรองภาวะเครียดจัดและซึมเศร้าจากเหงื่อเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจได้ครั้งละหลาย ๆ คน และใช้เวลาไม่นาน โดยการเก็บตัวอย่างเหงื่อจะใช้ก้านสำลีที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้าน เหน็บใต้รักแร้ซ้าย-ขวา ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วนำก้านสำลีที่มีเหงื่อไปใส่ในขวดปลอดเชื้อที่มีฝาปิด ก่อนส่งตัวอย่างให้ห้องแล็บเพื่อตรวจด้วยเครื่องวิเคราะห์กลิ่นสารเคมี โดยฉีดอากาศในขวดเข้าไปในเครื่อง จากนั้นรอเครื่องวิเคราะห์ผลประมาณ 10-20 นาที ซึ่งผลจะแสดงออกมาในลักษณะบาร์โค้ดของสารเคมีในแต่ละตัวอย่าง
จากการคัดกรองเบื้องต้น ด้วยการตรวจเหงื่อกลุ่มนักผจญเพลิง 1,084 คน ในกรุงเทพมหานคร ช่วงเดือน ก.พ. – ธ.ค. 65 ผลการตรวจพบว่าคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิต ทั้งปัญหาความเครียด และการนอนหลับจำนวนมาก โดยกลุ่มนักผจญเพลิงที่อยู่ในเกณฑ์มีความเสี่ยงปานกลางถึงรุนแรงจะต้องเข้าสู่กระบวนการยืนยันผลโดยอาจารย์จิตแพทย์อีกครั้ง โดยในโครงการวิจัยนี้ได้รับเกียรติจาก Professor Dr. Michael Maes, MD, Ph.D. ดร.นายแพทย์ ชาวิท ตันวีระชัยสกุล จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันผลการศึกษารอบสุดท้าย
ซึ่งหลังจากทราบผลการตรวจของตัวเองแล้ว นักผจญเพลิงรายที่ตรวจพบความเครียดสูง สามารถพบจิตแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ทันที โดยผลตรวจและข้อมูลการพบแพทย์ทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อพิทักษ์จิตใจคนที่ตรวจว่าอาจจะกระทบกับงาน
จากความสำเร็จในการวิจัยกับกลุ่มนักผจญเพลิง ทีมวิจัยมีแผนที่จะขยายการตรวจคัดกรองกับกลุ่มพยาบาลทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นได้มีการเริ่มเก็บตัวอย่างเหงื่อจากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาแล้ว โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก่อนจะขยายการตรวจคัดกรองความเครียดไปในกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันสูง มีความเสี่ยงต่อปัญหาภาวะสุขภาพจิต เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตให้รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีภาวะเครียดจัดหรืออาจมีอาการซึมเศร้า ได้รับการดูแลบำบัดทันท่วงที
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.