ถอดบทเรียนจนอยากถอดใจ ต้องถอดอีกมากแค่ไหน เราถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

ไม่นานมานี้ ภายหลังเหตุการณ์น่าเศร้าอย่างการกราดยิงในห้างพารากอน มีเพื่อนในเฟซบุ๊กของผมคนหนึ่งขึ้นสเตตัสทำนองว่า

“สำนักข่าวต่างๆ กำลังเตรียมถอดบทเรียนเหตุการณ์ในอีก สาม สอง หนึ่ง…”

ทำไมผมถึงติดใจสเตตัสนี้?

  • ข้อแรก ในมุมหนึ่ง หากอ่านผ่านๆ ก็ดูเหมือนเป็นสเตตัสแซ(ะ)วการทำงานของสื่อทั้งหลายธรรมดาๆ ที่นอกจากการรายงานข่าวเกาะติดสถานการณ์ รายงานคนเจ็บ คนเสียชีวิต ภาพนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลที่เสนอหน้าในที่เกิดเหตุ ก็มักจะมีการพลิกหงายหามุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มา ‘ถอด’ บทเรียนเพื่อนำเสนอต่อ
  • ข้อสอง แต่ในมุมหนึ่ง ถ้าเป็นคนคิดมากขึ้นมาหน่อย สเตตัสของเพื่อนคนดังกล่าวก็อาจกำลังสะท้อนได้ว่า “ถอดบทเรียนกันอีกแล้วเหรอ แล้วยังไงต่อ” (แม้เขาอาจจะไม่ได้พิมพ์บอกแบบนี้ก็ตาม)

เหตุการณ์กราดยิงในเมืองไทยไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และไม่ใช่เรื่องปกติ เราผ่านเหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายครั้ง เช่น ปี 2563 ที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช, กราดยิงร้านทองจังหวัดลพบุรีในปีเดียวกัน, ปี 2565 ที่ศูนย์เด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู และปีนี้ที่สยามพารากอน

การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์พารากอนของสื่อมีหลายแง่มุม ทั้งเรื่องอาวุธปืน ผู้ก่อเหตุที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 14 ปี ไปจนถึงปูมหลังของผู้ก่อเหตุทั้งครอบครัว สถานศึกษา สภาพจิตใจ หรือไลฟ์สไตล์ส่วนตัว

เรื่องปืนก็เรื่องหนึ่ง สื่อแทบทุกสำนักต่างพูดถึงกฎหมายหรือกระบวนการออกใบอนุญาตการครอบครองปืนในประเทศไทยไปหมดแล้ว แต่รายละเอียดหนึ่งที่น่าสนใจมาจากบทความของ TDRI ที่ตีพิมพ์เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู ตอนหนึ่งระบุว่า

รายงานของ World Population Review ระบุว่า ประเทศไทยมีอาวุธปืนมากกว่า 10.3 ล้านกระบอก และอัตราการครอบครองปืนของพลเรือนอยู่ที่ 15.10 ต่อ 100 คน สูงที่สุดในอาเซียนและสูงเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากปากีสถาน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีอาวุธปืนทางทหาร 1,052,815 กระบอก และอาวุธปืนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 230,000 กระบอก สูงกว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่าหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลียและแคนาดา และแม้แต่ประเทศที่ยังมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง เช่น อัฟกานิสถาน และซีเรีย

จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากฟิลิปปินส์ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนสูงสุดที่ 2,804 ราย โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนอยู่ที่ 3.91 ต่อ 100,000 คน

กลับกัน ผู้มีอำนาจที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายในการควบคุมปืนก็ไม่ได้มีแอ็กชันเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก หรือย้อนกลับไปในปี 2553 ก็มีการปรับปรุงกฎหมายอาวุธปืนให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาวุธปืน แม้จะมีเหตุการณ์เศร้าสลดจาก ‘ปืน’ เกิดขึ้นก็ตาม

นอกจากบทความของ TDRI ข้ามฝั่งไปที่สื่อต่างชาติอย่าง TIME ก็มีบทความชื่อ ‘Guns Are Everywhere in Thailand. Could the Country’s Deadliest Mass Shooting Change That?’ หรือแปลเป็นไทยประมาณว่า ‘มีปืนอยู่ทุกแห่งหนในประเทศไทย เหตุการณ์กราดยิงจะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้หรือไม่?’ ที่ตีพิมพ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยระบุว่า ปืนกว่า 10 ล้านกระบอกในประเทศไทย มีเพียงประมาณ 6 ล้านกระบอกเท่านั้นที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

ใครก็ตามที่ถูกจับได้ว่า พกพาอาวุธปืนที่ไม่ได้จดทะเบียนประมาณ 4 ล้านกระบอกในประเทศ เสี่ยงต่อการถูกจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับสูงสุด 20,000 บาท (535 ดอลลาร์) แต่ผู้คนจำนวนมากยังคงทำเช่นนั้น เนื่องจากตลาดมืดที่เฟื่องฟู ทำให้การซื้อและขายปืนผิดกฎหมายทางออนไลน์ค่อนข้างง่าย

นอกจากนี้ ในบทความยังยกคำพูดของ แอรอน คาร์ป ที่ปรึกษาอาวุโสของ Small Arms Survey สถาบันวิจัยอิสระในเมืองเจนีวา ที่กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก กฎหมายเกี่ยวกับปืนของไทย “ไม่ได้เข้มงวดเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้อนุญาตเป็นพิเศษ” ฟังดูคลุมเครืออย่างยิ่ง

เรื่องกฎหมายปืนคงหาอ่านตามบทความต่างๆ ไม่ยากนัก แต่นอกจากเรื่องของปืน สิ่งหนึ่งที่คนพูดถึงมากจากเหตุการณ์ที่พารากอน คือ ‘ระบบแจ้งเตือน’ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไปยังสมาร์ตโฟน

ตลกร้ายก็คือ ในวันเกิดเหตุ ประชาชนรับรู้ถึงข่าวร้ายจากโซเชียลมีเดียของคนมีชื่อเสียงก่อนรัฐด้วยซ้ำ

J-Alert ของญี่ปุ่น หรือ Emergency Alert ของเกาหลีใต้ คือผลจากการศึกษาความก้าวหน้าของระบบเตือนภัยฉุกเฉิน โดยมีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เกิดขึ้นในประเทศ ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างไฟดับ การประท้วง ไปจนถึงเรื่องความมั่นคงของชาติ กลายเป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่ถูกส่งถึงประชาชน เพื่อให้เตรียมตัวรับมือ พร้อมคำแนะนำหรือข้อควรปฏิบัติ

เมื่ออยู่ในญี่ปุ่น หลายคนอาจเคยเห็น J-Alert ตามจอโทรทัศน์ สมาร์ตโฟน เพื่อแจ้งเตือนเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ หรือการยิงขีปนาวุธ หรือบางคนที่เคยเที่ยวในเกาหลีใต้ อาจคุ้นเคยกับข้อความ Emergency Alert ที่ส่งตรงมายังหน้าจอสมาร์ตโฟนแทบทุกเช้า ไม่ใช่แค่เรื่องเหตุร้ายเหตุด่วน แต่แม้กระทั่งแจ้งเตือนว่าบนถนนมีหิมะตก อาจทำให้ถนนลื่นได้ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ

ประเทศไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติหนักเท่าญี่ปุ่น หรืออาจไม่ได้มีภัยความมั่นคงระดับชาติเหมือนเกาหลีใต้ แต่จากเหตุการณ์กราดยิงห้างพารากอนที่ประชาชนได้รับข้อความแจ้งเตือนจากประชาชนกันเองก่อนรัฐ ก็น่าจะสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง

เช่น ผู้มีอำนาจมองประชาชนเป็นอะไร ทรัพยากรสำคัญที่มีเลือดเนื้อจิตใจและต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึก ‘มั่นคง’ และ ‘ปลอดภัย’ ในการใช้ชีวิต หรือ เป็นเพียงเครื่องจักรผลิตภาษีมาให้ถลุง

‘ปัญหา’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสังคม การถอดบทเรียนจากปัญหา (ซึ่งคือปัญหาที่ประชาชนคนเดินดินธรรมดาเผชิญ) ก็เพื่อนำมาหาวิธีปรับปรุงแก้ไข ซึ่งก็สะท้อนว่าสังคมไหนให้ความสำคัญกับอะไร หรือให้ความสำคัญกับ ‘ประชาชน’ มากน้อยแค่ไหน

ถ้าย้อนดูเฉพาะเหตุการณ์กราดยิง ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่ถอดจนไม่เหลืออะไรให้ถอดแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำ

ก็สำนักข่าวหรือเพจต่างๆ จะทำอะไรได้ดีกว่านี้ น่าเห็นใจ เราช่วยกันถอดบทเรียนกันจนน่าจะรวมเป็นตำราได้ไม่รู้กี่เล่ม แต่เราจะเอาบทเรียนที่ได้ไปทำอะไรต่อต่างหาก คือหลักใหญ่ใจความสำคัญ

ถอดจนโล่งโจ้งจนไม่เหลืออะไรจะถอดแล้ว แต่ก็ไร้ค่า ถ้าฝ่ายที่มีอำนาจในการแก้ไขบทเรียนที่ถูกถอดนั้นไม่ตาสว่าง และไม่ยอมอภิปรายกันอย่างจริงจังถึงปัญหาเหล่านั้น

เรื่องง่ายๆ แค่ระบบแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนรับรู้ความเป็นไปในแต่ละวัน ยังกลายเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เกือบสองอาทิตย์ผ่านมา อีกเดี๋ยวเหตุการณ์นี้จะค่อยๆ ซาลงไปอีกครั้ง พร้อมกับบทเรียนมากมายที่ถูกถอดทิ้งไว้ เพื่อรอวันถอดบทเรียนซ้ำอีกครั้ง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.