ยาคุมกำเนิด กินอย่างไรให้ถูกวิธี ป้องกันการตั้งครรภ์ได้แน่นอน
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ วิธีการกินยาคุมกำเนิด อย่างถูกวิธีในแต่ละประเภท เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างสูงสุด เพราะสาวๆ หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าจะต้องกินอย่างไร หรือกินแล้วดันตั้งครรภ์ขึ้นมาเสียอย่างนั้น มาดูรายละเอียดง่ายๆ กันค่ะ
ยาคุมกำเนิด มีกี่ชนิด?
จริงๆ แล้วในร้ายขายยาตามท้องตลาด มียาคุมอยู่มากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่ได้รับความนิยม หรือใช้กันบ่อยๆ คือชนิด 21 วัน และชนิด 28 วัน โดยทั้งสองแบบนี้จะมียาให้ทานทั้งหมด 2 แผง
- ยาคุมชนิด 21 วัน – ต้องทานแผงแรกให้หมดก่อน จากนั้นหยุดทานยาไป 7 วัน แล้วค่อยเริ่มทานยาแผงที่สอง
- ยาคุมชนิด 28 วัน – สามารถทานยาทั้งสองแผงติดต่อกันได้เลย ไม่ต้องหยุดรอ
ควรกินยาคุมกำเนิดเมื่อไร?
เราควรกินยาคุมตั้งแต่ช่วงวันแรก ถึงวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน กล่าวคือ หากมีประจำเดือนวันแรก ในวันที่ 12 พ.ค. เราก็ควรเริ่มกินยาคุมตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. ได้เลย แต่หากไม่สะดวก หรือลืม ก็ยังสามารถเริ่มทานในวันที่ 13-16 พ.ค. ได้ นั่นคือเราสามารถกินยาคุมได้ภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือนนั่นเอง
กินยาคุมกำเนิดอย่างไร?
เราควรกินยาคุมโดยเรียงลำดับตามลูกศรบนแผงยา ตั้งแต่เม็ดแรกไปถึงเม็ดสุดท้าย (ไม่ใช่นึกอยากจะกินเม็ดไหนก็บิเม็ดนั้นออกมานะ) และควรเลือกกินยาในเวลาเดียวกันของทุกๆ วัน เช่น คุณอาจจะชอบกินยาตอนเช้า ก็ต้องกินตอนเช้าของทุกวัน โดยตั้งเวลาไว้ที่ 7 โมงเช้าของทุกวัน เป็นต้น
ยาคุมกำเนิด มีอาการข้างเคียงหรือไม่?
สาวๆ บางคนอาจจะมีอาการข้างเคียงจากการกินยาคุม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการกินยาคุมได้ แต่หากกินไปยาคุมไปหลายเดือนแล้ว ยังมีอาการเหล่านี้อยู่ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที เพราะอาจไม่ใช่เรื่องปกติก็ได้
การกินยาคุมกำเนิดเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นหนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดที่ปลอดภัย และได้ผลจริง ดังนั้นไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเขิน หรือมองว่าเป็นเรื่องน่าอายนะคะ เรารู้จักดูแลตัวเองก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่ควรระวังคือ ต้องทานอย่างถูกวิธี และระมัดระวังในการมีเพศสัมพันธ์กับใครมากกว่า ต้องมั่นใจว่าคู่นอนของเรามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ภาพประกอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ istockphoto
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.