เมื่ออุตสาหกรรม Fast Fashion กำลังจะพังโลก
รู้หรือไม่ว่าสถานการณ์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเราในเวลานี้มันเลวร้ายแค่ไหน อันที่จริงมันไม่ได้สังเกตได้ยากเลย เพราะทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มันก็เริ่มส่งผลกับ “มนุษย์โลก” อย่างเรา ๆ ในฐานะที่เป็นตัวแปรที่ร้ายกาจที่สุดในการทำลายโลก และก็ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่กำลังเดือดร้อนเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองก่อเช่นเดียวกัน
ไม่นานมานี้ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาชี้แจงว่า อุณหภูมิของพื้นผิวโลกและอุณหภูมิของมหาสมุทรในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในปีนี้ อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมันเป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังเริ่มต้นที่จะสิ้นสุดยุคของ “ภาวะโลกร้อน (Global Warming)” และกำลังเข้าสู่ยุค “ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” แล้ว ซึ่งจากสถานการณ์ในปีนี้ ก็เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงสัมผัสได้ถึงสภาพอากาศที่ร้อนสุด ๆ จนเป็นประจักษ์พยานว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ “ภาวะโลกเดือด” กันแล้วจริง ๆ
แล้วรู้หรือไม่ว่าแค่ “เสื้อผ้า” ที่เราใช้สวมใส่กันในชีวิตประจำวัน มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำพาโลกของเรามาประสบกับปัญหาโลกร้อนจนถึงจุดที่กลายเป็นโลกเดือดอย่างทุกวันนี้ด้วย โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion หรือก็คือเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นที่มาไวไปไว ใส่จริงได้แค่ไม่กี่ครั้ง แต่เราต้องซื้อต้องเปลี่ยนกันบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ “ตกเทรนด์” นำไปสู่การมีเสื้อผ้าในตู้กองเป็นภูเขาเลากา ซึ่งเสื้อผ้าแฟชั่นสุดฮิตในแต่ละช่วงนี้กลับไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไรนัก ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงจุดที่เราไม่ใส่แล้ว และมันก็กลายเป็นขยะในที่สุด
Fast Fashion คืออะไร แล้วปัญหาอยู่ที่ตรงไหน
Fast Fashion คือ เป็นกระบวนการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นที่เน้นความรวดเร็วฉับไวตามกระแส เน้นสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งแล้วไปซื้อตัวใหม่แทน พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นเสื้อผ้าตามกระแสแฟชั่นที่มาไวไปไว ผลิตและซื้อขายกันอย่างรวดเร็วในปริมาณมาก ๆ ใช้ต้นทุนต่ำทั้งในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและแรงงาน เพื่อที่ให้เสื้อผ้านั้นมีราคาถูก เข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าใครก็มีเสื้อผ้าสวย ๆ สวมใส่ได้ในทุกโอกาส ด้วยความที่เป็นแฟชั่นวงจรสั้น ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ เมื่อหมดเทรนด์ในช่วงเวลานั้นไป ก็จะมีเสื้อผ้าเทรนด์ใหม่เข้ามาแทนที่ ทำให้เสื้อผ้าที่ตกเทรนด์ไปแล้วจำนวนมากไม่สามารถขายได้ รวมไปถึงเสื้อผ้าในตู้ของใครหลายคนก็กลายเป็นส่วนเกิน เพราะไม่อยากหยิบมาใส่แล้ว
การมาถึงของเสื้อผ้าประเภท Fast Fashion ทำให้วงจรของแฟชั่นสั้นลง เนื่องจากผู้ผลิตมักจะใช้การตลาดเชิงจิตวิทยาเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลาจะได้ตามแฟชั่นใหม่ให้ทัน พอใหม่มาเก่าก็ต้องไป ใคร ๆ ก็ไม่อยากดูเชยที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ตกรุ่นไปแล้ว จากการที่มัน “ตกรุ่น” ได้อย่างง่าย ๆ และมีแฟชั่นใหม่เข้ามาแทนที่อยู่ตลอดเวลา มันจึงกลายเป็นจุดด้อยที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการทิ้งเสื้อผ้า เกิดเป็นขยะสิ่งทอกองมหึมาที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง ฝังกลบก็ลำบาก อีกทั้งยังมีสารเคมีในเส้นใยผ้าตกค้างอยู่อีกมากมาย และเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมในที่สุด
การที่อุตสาหกรรม Fast Fashion กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันกระแสของ Fast Fashion ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะตลอดทุกขั้นตอนการผลิตได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะในแง่ของการใช้ทรัพยากร การเกิดขยะสิ่งทอ การใช้สารเคมี น้ำเสีย ภาวะแห้งแล้ง การตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงเรื่องของจริยธรรมในการใช้แรงงาน ที่ส่อแววว่าอาจกลายเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับโลก
ด้วยมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับแรงงานที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion พบการใช้แรงงานเด็กหรือการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในหลายประเทศ เพราะอุตสาหกรรมนี้ใช้งานแรงงานค่อนข้างหนัก แต่กลับได้รับค่าแรงที่ต่ำ ปัญหาการกดขี่แรงงานด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ด้านสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ก็ไม่เอื้อต่อชีวิตแรงงาน หรือแม้แต่การบังคับใช้แรงงานชาติพันธุ์ มีแรงงานจำนวนไม่น้อยถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงานโดยปราศจากการยินยอม โดยรวมก็คือ Fast Fashion ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งประเด็นเรื่องของจริยธรรมการใช้แรงงาน และการทำลายสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมนี้จะสร้างปัญหาให้กับโลกใบนี้มากมาย
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม Fast Fashion
รายงานขององค์การสหประชาชาติในปี 2019 พบว่าในระหว่างปี 2000-2014 ปริมาณการผลิตเสื้อผ้าบนโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวด้วยกระแสความนิยมของ Fast Fashion ทำให้เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วถูกทิ้งกลายเป็นขยะสิ่งทอที่ทำลายได้ยาก รวมไปถึงการทิ้งร่องรอยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ที่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมโลก
เนื่องจากหัวใจของอุตสาหกรรม Fast Fashion คือการลดต้นทุน ผลิตให้มาก ขายให้ได้มากและเร็วที่สุด เมื่อต้องผลิตทีละเยอะ ๆ และออกจำหน่ายให้เร็ว ผลที่ตามมาคือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น โดยเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมนี้อย่าง “ฝ้าย” เพราะฝ้ายเป็นพืชที่ต้องการน้ำมหาศาล กว่าจะผลิตใยฝ้ายออกมาได้ 1 กิโลกรัมนั้นต้องใช้น้ำถึง 10,000 ลิตร หรือประมาณ 3,000 ลิตรต่อเสื้อผ้า 1 ตัวเลยทีเดียว ทำให้น้ำกว่า 1.5 พันล้านล้านลิตรถูกใช้ไปในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในแต่ละปี ในขณะที่คน 750 ล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้
รวมไปถึงการใช้สีที่ใช้ย้อมเสื้อผ้า ที่ต้องสังเคราะห์ขึ้นจากสารเคมี เป็นผลให้เกิดน้ำเสียที่ไม่ได้ผ่านการบำบัด คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ สร้างมลพิษลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำย้อมสีผ้ากว่า 200,000 ตันถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำทุกปี จะเห็นว่าอุตสาหกรรม Fast Fashion เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตและทำความสะอาดมากที่สุดในโลก
เรื่องของการเน้นต้นทุนถูกและกำไรสูง ทำให้มีการพยายามหาวัตถุดิบอื่นที่ต้นทุนถูกกว่าการใช้เส้นใยฝ้าย คือการผสมพลาสติกสังเคราะห์ขนาดเล็กที่เรียกว่า “ไมโครไฟเบอร์” เข้าไปด้วย ได้ออกมาเป็นชนิดเสื้อผ้าอีกรูปแบบ อย่างโพลีเอสเตอร์ ไมโครไฟเบอร์กว่าร้อยละ 85 ที่มนุษย์ผลิตขึ้น มักจะอยู่บริเวณชายฝั่งทั่วโลก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ยากมาก และปลายทางของน้ำเสียที่มีไมโครไฟเบอร์ 190,000 ตันคือมหาสมุทร อีกทั้งปริมาณขยะพลาสติกที่ได้จากเสื้อผ้าเหล่านี้ในแต่ละปียังเปรียบได้กับขวดพลาสติกจำนวน 50,000 ล้านขวด ไมโครพลาสติกที่หลุดไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมทั้งในน้ำและดิน จะแทรกซึมไปในห่วงโซ่อาหารของสัตว์โดยปริยาย
มาดูที่เรื่องของขยะสิ่งทออันเป็นเสื้อผ้าที่ไม่สามารถย่อยสลายได้กันบ้าง มีเส้อผ้าเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่จะได้กลับไปรีไซเคิลหรือบริจาค และทางเลือกเดียวที่จะกำจัดขยะที่เกิดจากเสื้อผ้าคือการฝังกลบดิน ซึ่งจะทิ้งสารตกค้างจำนวนมากไว้ในดิน ตามมาด้วยดินเสียหายและเสื่อมคุณภาพได้ โดยดินที่เสื่อมสภาพจะนำไปสู่การลดลงร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตอาหารในอีก 20-50 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ กระบวนการผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรม Fast Fashion ยังมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ค่อนข้างสูง คิดเป็นร้อยละ 8-10 ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.3 พันล้านตันต่อปี โดยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นเส้นใยสังเคราะห์ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวจะมีรอยเท้าคาร์บอน 5.5 กิโลกรัม ในขณะที่เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายจะมีรอยเท้าคาร์บอนเพียง 2.1 กิโลกรัม รวมไปถึงปัญหาการตัไม้ทำลายป่าที่สืบเนื่องกัน ในแต่ละปี ต้นไม้ 90 ล้านต้นถูกตัดเพื่อมาผลิตเสื้อผ้า ร้อยละ 30 ของเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ผลิตมาจากป่าที่ต้องเร่งอนุรักษ์ และร้อยละ 5 ของโรงงานเสื้อผ้าทั่วโลกใช้ต้นไม้เป็นวัตถุดิบหลัก
“แฟชั่น” เข้าใจว่าของมันต้องมี แต่เรามีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง
ทุกวันนี้ การใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์เรามันเกินความจำเป็นของปัจจัย 4 ไปแล้ว การแต่งกายของคนเราสามารถยกระดับบุคลิกภาพและสถานะทางสังคม รวมถึงบอกบุคลิกภาพ บอกนิสัย บอกวัฒนธรรม การแต่งกายจึงไม่ใช่แค่การปกปิดร่างกายอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน การมาของ Fast Fashion ยิ่งตอบโจทย์ เพราะมันทำให้เราได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดูดีในราคาที่จับต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้น แบรนด์เสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ยังเน้นย้ำทำการตลาดด้วย “เทรนด์” ที่จะปรับเปลี่ยนคอลเลกชันใหม่อยู่บ่อย ๆ ทำให้เราสามารถเปลี่ยนสไตล์ได้บ่อย ๆ และเข้าถึงแฟชั่นที่มาและไปอย่างรวดเร็วได้อย่างต่อเนื่อง
Fast Fashion เปลี่ยนนิยามของเสื้อผ้าจาก “สิ่งจำเป็น” กลายเป็น “ของมันต้องมี” ตามความคิดที่ว่าเราต้องตามให้ทันแฟชัน นำไปสู่การอยากได้ของใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ในเวลานี้ โลกกำลังเผชิญกับหายนะด้านสิ่งแวดล้อมจาก Fast Fashion อย่างหนักหน่วง ดังนั้น มันจะดีกว่าไหมหากเราจะมีวิธีเลือกซื้อและเลือกใช้เสื้อผ้าที่ยั่งยืนได้มากกว่าด้วยแฟชั่นหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และดีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงบนโลกมากกว่าด้วย
เสื้อผ้าแต่ละตัวไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้ง มันมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมาก ๆ เพราะฉะนั้น มันจะดีกว่าหากเราซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้น้อยลง นำเอาที่มีอยู่ในตู้มา mix and match ใหม่อย่างสร้างสรรค์ ก็น่าจะทำให้การแต่งตัวในแต่ละวันสนุกสนานขึ้น ในขณะที่เราก็ยังคงความเป็นสายแฟชั่นได้อยู่ หรืออาจจะต้องพิจารณาให้มากขึ้นเวลาจะซื้อเสื้อผ้า เลือกซื้อผ้าอย่างไรที่จะมีผลกระทบต่อโลกให้ได้น้อยที่สุด อาจเลือกเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% เลือกซื้อผ้าที่สวมใส่ได้หลาย ๆ โอกาส ใช้งานได้ยาวนาน และท้ายที่สุด ถ้าเราไม่อยากใส่เสื้อผ้าตัวนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรกับมัน บริจาคไหม? ให้คนอื่นไหม? ขายมือสองไหม? หรือจะส่งไปรีไซเคิลดี?
ข้อมูลจาก Fashionista, Good On You, Sustain Your Style, BBC
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.