รู้จักภาวะ “กินเพราะเครียด” สาเหตุและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาที่รู้สึกเบื่อ หรือเหงา หรือเศร้า หรือบางครั้งก็แค่เซ็งๆ ถึงทำให้เรารู้สึกอยากอาหารมากขึ้นกว่าเดิม อยากจะหาอะไรมาใส่ปากเคี้ยวๆ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกว่างเปล่านั้น และถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่าอาหารที่หยิบใส่ปากเคี้ยวนั้นก็ดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อร่างกายเท่าไร ส่วนมากก็จะเป็นขนมขบเคี้ยว หรือไม่ก็น้ำอัดลม น้ำหวานๆ แล้วอ้างว่ารู้สึกว่าน้ำตาลในเลือดตก ต้องทำให้ตนเองสดชื่น

ภาวะการตามใจปากเพราะอารมณ์นี้เรียกว่า Emotional Eating หลายคนน่าจะเคยรู้สึกหรือรู้ซึ้งดีว่าอารมณ์ที่อยากกินแบบนี้ยากที่หยุด หรือบางครั้งอาจเข้าขั้นหยุดไม่ได้เลยก็ว่าได้ กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม ถึงอิ่มก็รู้สึกว่าไม่พอ ยังคงอยากจะกินต่อไปเรื่อยๆ แต่แล้วทำไมร่างกายถึงไม่ยอมพอเสียที ยิ่งเบื่อเหงาเศร้าซึมมากเท่าไร เราก็ยิ่งกิน Tonkit360 มีคำอธิบาย

เราจะรู้อยู่แล้วว่าการกินมากๆ โดยเฉพาะพวกอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเหล่านั้น มันทำให้อ้วนได้ง่ายมาก ซึ่งภาวะอ้วนนี้ก็ยังไปเพิ่มความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคต่างๆ มากขึ้นอีก ถึงหลายคนจะรู้สึกผิดที่เอานู่นเอานี่ใส่เข้าไปในท้อง แต่ความรู้สึกผิดก็สู้ความรู้สึกอยากไม่ได้

เมื่อเรารู้สึกเบื่อ ทำไมเราถึงเอาแต่กิน

หลักการวิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นภาวะว่างเปล่าทางอารมณ์ หรือความรู้สึกในด้านลบ โดยที่มนุษย์ไม่มีวิธีเติมเต็มความว่างเปล่าแบบอื่น เพราะอารมณ์ในช่วงนั้นเป็นแบบที่เราเรียกว่า “ไม่มีอารมณ์” ไม่อยากทำอะไร รู้สึกเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ การกินอาหารจึงเป็นวิธีเติมเต็มความว่างเปล่าและสร้างความรู้สึกว่าเรา “อิ่ม” แบบชั่วคราว ซึ่งจริงๆ แล้ว “อิ่ม” ในที่นี้เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าอิ่มท้องหรืออิ่มทางอารมณ์ รู้แต่แค่ว่ามันมีความสุขขึ้น

จริงๆ แล้วการกินตามอารมณ์ของมนุษย์นี้มีมาตั้งแต่มนุษย์ยุคถ้ำแล้ว ตามวิวัฒนาการของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความเครียดหรือสภาพจิตใจผิดปกติไปจากเดิม (ซึ่งในยุคนั้นมักจะเป็นเรื่องของภาวะอันตรายในธรรมชาติ เช่น การขาดอาหารหรือถูกล่า) สัญชาตญาณที่รับรู้ได้ถึงอันตรายเหล่านั้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ร่างกายรู้สึกว่าต้องการพลังงานในการเอาตัวรอด ดังนั้นจึงไม่ใช่กินอะไรก็ได้ แต่ภาพอาหารที่อยู่ในหัวคือพวกอาหารที่ให้พลังงานสูงๆ แทบทั้งสิ้น

เมื่อภาวะความเครียดเริ่มผ่อนคลายลง พลังงานที่หมดไปจากการหนีเอาตัวรอด ก็ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาที่จะตุนพลังงานแบบนี้ไว้ใช้อีกเผื่อภัยร้ายมาเยือนในวันข้างหน้าจะได้มีเรี่ยวแรงในการเอาตัวรอด

แต่พอมาถึงปัจจุบัน ในวันที่มนุษย์ไม่ต้องล่าสัตว์ ไม่ต้องอยู่ถ้ำ รู้จักการอยู่กันแบบสังคม ปัจจัยทางสังคมเหล่านี้ก็เข้ามามีบทบาทต่อสภาวะทางจิตใจแทนที่ความรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อรับรู้ได้ถึงอันตราย ระดับความเครียดจะสูงขึ้น มีความรู้สึกสารพัดหลั่งไหลเข้ามา เบื่อ เหนื่อย (ใจ) เหงา เศร้า ซึม ร่างกายจึงมีแนวโน้มที่ต้องการอาหารที่พลังงานค่อนข้างสูงไปชดเชย

การตอบสนองต่อความเครียดด้วยการกินนี้ เกิดในภาวะที่ร่างกายรู้สึกถึงความวิกฤติ ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนคอร์ติโคโทรปินจะหลั่งออกมาจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส เพื่อไปกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนสเตียรอยด์เหล่านี้จะเพิ่มความอยากอาหาร จากนั้นเราก็จะกินตามความอยากนั้นเพื่อเป็นกลไกในการรับมือความเครียดหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น

กินเพราะหิวหรือกินเพราะเบื่อ

หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้วจะแยกออกได้อย่างไรว่าที่กำลังกินอยู่นี้กินเพราะหิวหรือกินเพราะจิตใจแปรปรวน การสังเกตไม่มีอะไรมาก ถ้าเป็นการอยากกินเพราะอารมณ์ มันจะเป็นความรู้สึกที่อยากกินแบบปุบปับ รุนแรง อยากกินต้องได้กิน ได้กินเดี๋ยวนั้น ส่วนมากมักจะเป็นอาหารแค่อย่างเดียวหรือสองอย่างที่เราอยากกิน อยากกินแค่อย่างนี้ในปริมาณที่มากๆ เช่น อยากดื่มน้ำอัดลมทั้งที่ปกติไม่ค่อยดื่ม และดื่มแก้วเดียวก็ไม่สะใจ หรืออยากกินมันฝรั่งทอด ก็กินได้เรื่อยๆ กินแบบไม่หยุด หมดแล้วไม่พอต้องมีมาเติม ซึ่งไม่ใช่การกินอาหารได้หลากหลายแบบเวลาที่หิว

และแน่นอนว่าเมื่อร่างกายคลายความเครียดลง เราเริ่มรู้ตัวว่ากินมากเกินไปแล้ว ความรู้สึกผิดก็เริ่มก่อตัวขึ้นมา “ฉันไม่น่ากินเข้าไปเลย” หรือไม่ก็ “ฉันน่าจะกินอันนั้นมากกว่าสิ น่าจะดีกว่า” แต่การตามใจปากเพราะอารมณ์นี้มันไม่สามารถยุติได้ด้วยความอิ่ม เรากินด้วยความรู้สึกที่อย่างไรก็ไม่อิ่มเสียที ซึ่งถ้าอยากจะหยุดหรือให้ปัญหานี้ดีขึ้น จำเป็นต้องไปจัดการที่ต้นเหตุ

จัดการอย่างไร

เมื่อเรารู้สึกอยากกินเพราะอารมณ์ด้านลบที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะไม่ปลอดภัย ก็ต้องกำจัดอารมณ์เหล่านั้นก่อน ด้วยการหาวิธีผ่อนคลายความเครียด ซึ่งก็มีมากมายหลายวิธี อยู่ที่ว่าวิธีไหนจะเหมาะกับตัวเองด้วย แต่ถ้าอยากกินจริงๆ ห้ามใจไม่ให้ไม่กินไม่ได้ แต่พอจะห้ามใจให้ไปกินอาหารที่มีประโยชน์กว่ามาทดแทนได้

อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่อยู่สูงมากเช่นกันที่เราจะซื้อแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์เหล่านั้นมาตุน เพราะฉะนั้น การไม่ไปเดินห้าง เดินตลาดเวลาที่ตัวเองกำลังรู้สึกเบื่อจัดๆ ก็พอจะช่วยได้ แล้วเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์กว่าเข้าบ้านแทน เวลาหน้ามืดตามัว มีอาการอยากกินตามอารมณ์แล้วต้องกินให้ได้ จะได้มีแค่ของมีประโยชน์ให้กิน ถ้าเรื่องมากไม่อยากกินก็คือไม่ได้กิน

อย่างไรก็ดี ถ้ามีอาการนี้บ่อยจนเกินไป หรือเมื่อใดก็ตามที่เริ่มรู้สึกว่าควบคุมความรู้สึกอยากอาหารเวลาที่อารมณ์แปรปรวนแบบนี้มันยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพราะมันอาจจะไม่ใช่ความรู้สึกเบื่อเหงาเศร้าซึมชั่วครั้งชั่วคราวเวลาที่ร่างกายมีความเครียด แต่อาจเป็นความผิดปกติทางด้านจิตใจที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น อาการแรกเริ่มของโรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์ แพทย์อาจแนะนำให้ไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อช่วยจัดการกับความรู้สึกด้านจิตใจเพื่อหยุดการกินตามอารมณ์

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.