ปริศนากองหินบนเขาพนมรุ้ง นักธรณีวิทยาชี้มีคนโบราณอาศัยอยู่!
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำรวจพบกองหินและแนวหินจำนวนมากบนเขาพนมรุ้ง-ปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่าในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นภูเขาไฟยุคควอเทอร์นารี เกิดจากการประทุและไหลหลากของลาวาเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน เมื่อลาวาเย็นและแข็งตัวจะกลายเป็น หินบะซอลต์ (basalt) ซึ่งมีทั้งแบบบะซอลต์เนื้อแน่น (massive basalt) บะซอลต์รูพรุน (vesicular basalt) และสคอเรีย (scoria) ที่มีรูพรุนมากคล้ายฟองน้ำ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของปริมาณก๊าซที่มีอยู่ในมวลลาวาและรายละเอียดทางธรณีวิทยาของการประทุในแต่ละครั้ง
จากการลงพื้นที่สำรวจทั้งเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด ศ.ดร.สันติ และทีมนักวิจัย พบกองหินน่าสงสัยบนพื้นที่ป่าบนเขาดังกล่าว โดยมีลักษณะดังนี้
1. มีการจัดเรียงกองหินอย่างเป็นระเบียบ
โดยธรรมชาติของภูเขาไฟ จะมีก้อนหินบะซอลต์หลากหลายขนาดกระจายแบบสุ่มอยู่เต็มพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สันติ ตั้งข้อสังเกตว่าในบางพื้นที่มีก้อนหินบะซอลต์กองรวมกันอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชั้นๆ 2 – 3 ชั้น กองเป็นเนินขนาดเล็กบ้าง กองสูงท่วมหัวบ้าง และในหลายๆ ที่ยังพบลักษณะคล้ายกับว่ามีการจัดวางและเรียงก้อนบะซอลต์เป็นแนวยาว 150 – 200 เมตร บนเขาปลายบัด หรือเป็นรูปทรงคร่าวๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติทางธรณีวิทยา
2. ใช้หินที่มีขนาดใกล้เคียงกันกองรวมกัน
อีกข้อสังเกตทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจคือ เนินหรือแนวมักจะเกิดจากการกองรวมกันของหินบะซอลต์ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และเป็นขนาดพอเหมาะที่มนุษย์จะสามารถยกย้ายได้ อนุมานว่าก้อนหินบะซอลต์เหล่านี้อาจจะผ่านการคัดขนาดเป็นอย่างดี เพื่อให้เหมาะที่จะนำมาใช้หรือนำมากอง
3. หินบะซอลต์ที่นำมากองกันมีเนื้อหินที่หลากหลายแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
กลุ่มหินบะซอลต์ในแต่ละเนินหรือแนวหินบะซอลต์ จะประกอบไปด้วยหินบะซอลต์หลากหลายเนื้อหิน ทั้งหินบะซอลต์เนื้อแน่น หินบะซอลต์รูพรุน รวมถึงหินสคอเรีย รวมกันอยู่ในเนินหรือแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในมิติทางธรณีวิทยา เนื่องจากเนื้อหินจะแตกต่างกันก็ต่อเมื่อเกิดจากการประทุของภูเขาไฟคนละเหตุการณ์ที่ไหลหลากกันคนละพื้นที่
ด้วยข้อสงสัยดังกล่าว จากการสืบค้นเชิงเอกสารในแหล่งโบราณคดีพื้นที่อื่น พบว่ามีพฤติกรรมการกองหินเป็นแนวนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นในพื้นที่แหล่งโบราณคดีทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศ.ดร.สันติ จึงสรุปว่า กองหรือแนวหินบะซอลต์ที่พบบนเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัดเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ที่คัดเลือกหินขนาดพอเหมาะ รวบรวมและเคลื่อนย้ายมาก่อรวมกัน เพื่อการก่อสร้างหรือเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง นอกจากปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเขาปลายบัด ๑ และ ปราสาทเขาปลายบัด ๒ ที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาแล้ว ภายในป่าพื้นที่โดยรอบบนเขาทั้งสองลูก ยังมีการใช้พื้นที่และอยู่อาศัยของคนในอดีตเช่นกัน
รายชื่อทีมสำรวจ : สันติ ภัยหลบลี้, กังวล คัชชิมา, สมบัติ มั่งมีสุขศิริ, อุเทน วงศ์สถิตย์, ปัญญา จารุศิริ, ปัญญา นากระโทก, จักรกริช อุดรพิมพ์, และ ตามศักดิ์ วงศ์มุนีวร
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.