Smart city : เมืองสมาร์ทชาติเจริญ ย่านไหนอยู่แล้วพัง ย่านไหนอยู่แล้วปัง
สุสานคนเป็นของคนเมืองคืออะไร?
มีค่าสถิติตอนทำผังเมืองรวมบอกว่า คนกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ในรถยนต์ประมาณ 800 ชั่วโมง ต่อปี หรือคิดเป็น หนึ่งเดือนกับ 3 วันต่อหนึ่งปี หากมีชีวิต 12 ปี จะเท่ากับอยู่ในรถ 1 ปี!!!
กรุงเทพฯ ของเรามันไม่เหมาะกับการเดิน เพราะอะไร?
ข้อหนึ่งที่สำคัญคือ อากาศไม่ส่งเสริมให้คนเดินเลย และการที่เราจน สุขภาพไม่ดี หรือว่า ทำไมเราถึงขี้หงุดหงิด หรือว่าใจร้ายจัง หรือว่าบางทีส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเมืองที่เราอาศัยอยู่ก็ได้ ในทางกลับกันตัวเมืองเองก็อาจจะทำให้เรารวย สุขภาพร่างกายแข็งแรง และยังมีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย
วันนี้รายการ City Defined ได้นำกรุงเทพมหานครมาเป็นโลเคชันหลัก หรือเป็นตัวอย่างในการพูดคุยกันถึงเมืองและสามารถนำเอาไปปรับใช้หรือพัฒนาเมืองกันต่อไปได้ในทุกพื้นที่ เพราะการวิวัฒน์พัฒนาไปของเมืองทุกเมืองในโลกมักจะคู่ขนานไปกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเสมอ
City Defined ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณต่อ-อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ที่มาให้คำตอบเชิงวิ เคราะห์ได้อย่างกระจ่างใจ ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่ Smart City ก่อนอื่นมาดูกันจากเดต้าที่มีการรวบรวมกันก่อนว่า ย่านไหนอยู่แล้วพัง ย่านไหนอยู่แล้วปัง!
เริ่มจากคำถามแรกว่า ย่านไหนที่อยู่แล้วมีโอกาสเสี่ยงจนมากที่สุด?
คุณอดิศักดิ์บอกว่า ความจริงแล้วเมืองมีบทบาทกับเรามากกว่าที่เราคิด เพราะการที่บางครั้งการใช้ชีวิตประจำของเราอาจทำให้เราหงุดหงิด สุขภาพไม่ดี จน หรือว่าโสด อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเราทั้งหมด เพราะความจริงแล้งส่วนหนึ่งมันมาจากสภาพแวดล้อมหรือเมืองที่เราอาศัย ถ้าถามว่า ย่านไหนที่เราอยู่อาศัยแล้วจะทำให้เราจนลง หรือ รวยขึ้น กายภาพของเมืองหรือสภาพแวดล้อมของเมืองมีผลอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ถ้าเราบอกว่าเราจนเพราะอะไร จากสถิติบอกว่า มีค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพในเมืองสองสามอย่างที่คนเมืองจะต้องแบกรับ หนึ่งคือค่าเดินทาง
เพราะค่าเดินทางของคนกรุงเทพฯ มหาศาลมากๆ จากข้อมูลตามสถิติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพมหานครเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีค่าเดินทางหรือค่าครองชีพด้านการเดินทางสูงที่สุด เราใช้เวลาในการเดินทางมากที่สุดอันดับ 1และเราเสียเงินไปกับการเดินทางคิดเป็น 20-25% ของรายได้
ถ้าถามว่าอยู่ตรงไหนแล้วจน ก็คือ อยู่ตรงไหนแล้วเดินทางยาก อยู่ตรงไหนแล้วราคาแพง เช่น อยู่ในซอยลึก ทางเปลี่ยวมากๆ แสดงว่ามีการเดินทางหลายทอดหลายต่อกว่าจะถึงที่ทำงาน และอีกอย่างคืออยู่ไกลจากแหล่งงานมากๆ เช่น หนองจอก มีนบุรี หรือในโซนพระราม 3 พระราม 2 ออกมาเจอรถติดต้องขึ้นทางด่วน เป็นส่วนหนึ่งของค่าครองชีพ อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องของระดับรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย แสดงว่า ย่านไหนที่มีราคาค่าจ้างสูงกว่าก็จะได้เปรียบมากกว่าในเบื้องต้น ซึ่งก็มีผลการวิจัยหลายชิ้นบอกว่า ในย่านที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีจะดึงดูด Head Quarter หรือ ตัวธุรกิจ งานต่างๆ ที่อยู่ในเมืองก็จะอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น
ในกรุงเทพฯ เราคิดว่าย่านไหนเป็นย่านที่เราได้ค่าแรงหรือค่าครองชีพสูงที่สุด?
สุขุมวิท เป็นโซนธุรกิจ เรียกว่าเป็นหนึ่งในย่านที่เป็น CBD หรือ Central Business District เช่น สีลม สาธร มาจากระดับรายได้ของกลุ่มธุรกิจ หรือ กลุ่มบริษัทที่อยู่ในโซนที่เราเรียกว่าเป็นพื้นที่ CBD หรือ พื้นที่ธุรกิจ อย่างสุขุมวิทมีระดับที่สูงกว่าพื้นที่ที่อยู่รอบนอก แสดงว่ามันมีความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่อยู่ ถ้าอยู่ตรงไหนแล้วจน มันต้องมาดูอีกว่า เรามีรายรับเท่าไหร่ มีเงินได้เท่าไหร่ มีรายจ่ายเท่าไหร่ บางคนอาจจะไม่จนก็ได้แม้จะมีรายได้หรือมีเงินเดือนไม่สูงมาก เพราะไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ไม่ต้องเสียค่าอาหารที่มีราคาแพง
ย่านไหนอยู่แล้วเสี่ยงอ้วน?
“ไม่ใช่เพราะอาหารที่เรากินแต่เป็นเพราะย่านที่เราอยู่ด้วย”
ความจริงเสี่ยงอ้วนมันมีงานวิจัยหลายชิ้นว่า มนุษย์เมืองเสี่ยงต่อการเป็นภาวะที่เรียกว่า “อ้วนลงพุง” หรือว่า เป็นภาวะที่ยังไม่อ้วน หรือ ยังไม่เป็นเบาหวาน มีภาวะที่เกี่ยวข้องกับการกิน กับเรื่องของการทำกิจกรรมทางกายที่น้อยมากๆ เราทำงานหนักมาก ทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ และยังไม่มีเวลาออกกำลังกาย แสดงว่า พื้นที่เมืองแบบไหนที่ทำให้เราต้องเร่งรีบ ไม่มีเวลาละเมียดกับการกินอาหารที่ดี ต้องกินอาหารแช่แข็งตลอดเวลาหรือเปล่า หรือไม่มีเวลาแม้กระทั่งออกกำลังกาย ปัจจุบันนี้คนกรุงเทพฯออกกำลังกายยังไง
ส่วนหนึ่ง เวลาที่เราพูดว่าอยู่ตรงไหนแล้วอ้วน มันขึ้นอยู่กับเรื่องของพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อม นั่นแปลว่าเรา ถ้าเราตีความว่า ย่านไหนที่เราสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีสุขภาพที่ดี อันนี้ก็จะทำให้เราไม่อ้วน เพราะว่าเราได้กินอาหารครบ 5 หมู่ ที่สำคัญคือเรามีโอกาสได้ออกกำลังกาย เช่น ถ้าเราอยู่ใกล้สวนสาธารณะเราก็สามารถออกไปวิ่งได้ เช่น ถ้าบ้านอยู่ใกล้สวนลุมฯ ซึ่งน่าจะยากมาก เพราะราคาบ้านคงจะสูงมาก กับอีกเหตุผลคือ เราไม่มีเวลาออกกำลังกายเลย เช่น เราทำงานเลิกห้าโมงเย็น บ้านอยู่บางกะปิ แต่ว่าทำงานอยู่ที่สีลมแสดงว่าเราใช้เวลาในการเดินทาง 1-2 ชั่วโมง กลับบ้านไปก็หมดแรงแล้ว ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ดังนั้นย่านแบบนี้แหละ ที่มันทำให้เราเสี่ยงอ้วนแน่นอน ค่าสถิติของกรุงเทพมหานครตอนทำผังเมืองรวมฉบับครั้งที่แล้ว คือ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บอกว่า
“คนกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ในรถยนต์ประมาณ 800 ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นค่าสถิติ 1 เดือนกับ 3 วัน ถ้าเราคิดเป็น 12 ปี เท่ากับเราอยู่ในรถยนต์ 1 ปี
และมีผลการวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า การที่เราอยู่บนรถยนต์นาน จากการที่คนกรุงเทพฯนิยมมีรถใช้รถยนต์มากกันแบบตะบี้ตะบัน จึงส่งผลต่อภาวะอ้วนลงพุง กินอาหารเสร็จแล้วก็นั่งนอกจากนั่งในที่ทำงานแล้วยังมานั่งในรถยนต์อีก มันยิ่งทำให้เรายิ่งอ้วน ดังนั้น ถ้าถามว่า ย่านไหนที่มันเดินไม่ได้ มันไม่เอื้อต่อการเกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่ทำให้เรามี Physical Activities ย่านนั้นแหละที่ทำให้เราอ้วน เริ่มเห็นพุงของตัวเองกันหรือยัง!
มาถึงคำถามสำคัญ
ย่านไหนอยู่แล้วหัวใจวาย ตายแน่นอน?
เรื่องนี้คุณต่อเคยทำเดต้าของเมืองในบทความในเชิงประชดประชันว่า มันเป็น "สุสานคนเป็นของคนเมือง" คือถ้ามันเกิดกรณีว่า มีคนหัวใจวาย ตรงไหนที่ตายแน่นอน เพราะว่าไปหาหมอไม่ทันแน่นอน เพราะว่า หนึ่งคือเรา อยู่ไกลโรงพยาบาล และก็ถ้าเป็นโรงพยาบาลก็ต้องเป็นโรงพยาบาลเกี่ยวกับหัวใจที่รับเคสได้ด้วย ก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก มากไปกว่านั้น ถ้าเราจะออกจากบ้านเพื่อไปโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน เกิดไปเจอรถติด ตายเลย ตายตั้งแต่ระหว่างทางเพราะว่าเราไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ ดังนั้นถ้าถามว่า อยู่ตรงไหนหัวใจวายตายแน่นอน หนึ่งต้องดูว่า ระยะทางในการเข้าถึงโรงพยาบาล
สองคือ ระยะเวลาในการเข้าถึง ดังนั้นประเด็นถัดมาที่สำคัญคือ ต้องดูกันถึงเรื่องของโครงสร้างเมือง การจัดการเรื่องของระบบถนนหนทางต่างๆ หรือ ในมิติเมืองในภาพรวม จะพูดถึง Urban Mobility คือการเคลื่อนที่ของเมืองที่ทำให้มัน Simulate มากขึ้น แผนที่กรุงเทพฯ เป็นปีกผีเสื้อ สองปีกผีเสื้อเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกลโรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมากที่สุด แต่ว่ามันมีบางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่เราเรียกว่า แม้ว่าอยู่ในพื้นที่เมืองก็อาจจะตายได้เพราะว่า ปัญหาเกิดจากรถติด ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่ว่ามันมีบางพื้นที่ที่เราเรียกว่า Surplus คือมันมีพื้นที่ส่วนเกินด้านการบริการสาธารณสุขกระจุกตัวกันอยู่มากเป็นพิเศษ อย่างเช่น
ในกรุงเทพฯ มีตรงไหนที่มีสถานพยาบาลหรือว่าโรงพยาบาลมากที่สุด
ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่า ตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะมีทั้งโรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันที่ดูแลเฉพาะทางมากกว่า 10-15 แห่งมี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกถฎ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันโรคผิวหนัง โรงพยาบาลเด็ก แสดงว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่ที่มีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล อินเคสว่ามีอะไรเกิดขึ้น รถหน่วยกู้ภัย รถฉุกเฉิน รถพยาบาลจะต้องมุ่งไปที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ในเชิงเมืองมันเป็นพื้นที่ไข่แดงที่จะต้องได้รับการดูแล ไม่ใช่แค่ว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวสูง แต่ว่าต้องดูเรื่องระยะการเข้าถึง ถ้าผ่านไปเส้นดินแดงแล้วข้ามมาทางเส้นอนุสาวรีย์ชัยฯ จะเห็นเลนพิเศษตรงเส้นดินแดงไปถึงอนุสาวรีย์คือเลนสำหรับรถฉุกเฉิน เหล่านี้มันคือในเชิงยุทธศาสตร์ของการบริหาจัดการเมืองว่า ตรงนี้มันอาจต้องมีเลนพิเศษสำหรับให้รถพยาบาลวิ่งตรงไปได้เลยอย่างทันท่วงที
รู้จักเมืองที่คุณอยู่อาศัยกันมากขึ้นหรือยัง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.