ถ้า “พวงมาลัยรถ” ไม่เป็นวงกลม
ในการขับรถบนท้องถนนทั่วไป ทุกท่านคงคุ้นเคยกับรูปทรงของพวงมาลัยที่เป็นวงกลมกันมาตลอดนะครับ แต่ถ้าใครได้ติดตามการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ ตั้งแต่ระดับซูเปอร์คาร์ GT3 ไปจนถึงฟอร์มูล่า วัน เราจะเห็นรูปร่างของพวงมาลัยแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะพวงมาลัยทรงตัดแบบ D-Shape เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แล้วถ้าเรานำพวงมาลัยรูปทรงแบบที่ใช้ในรถแข่งมาใช้กับรถบ้านจะเป็นอย่างไร
หากย้อนไปในยุคอดีต ผมยังจำได้ถึงความรู้สึกของการสาวพวงมาลัยในยุคที่ไม่ใช่พวงมาลัยพาวเวอร์ ถึงขนาดมีการแซวกันว่าสาว (พวงมาลัย) กันจนกล้ามขึ้น ยิ่งเป็นรถยุคเก่า ๆ พวงมาลัยจะทำจากไม้และวงใหญ่กว่าทุกวันนี้มาก มาในยุคนี้มีการพัฒนาพวงมาลัยในรูปแบบที่มีปุ่มควบคุมต่าง ๆ รวมอยู่ด้วยเพื่อความสะดวกมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นทรงของมันก็ต้องเป็นวงกลมอยู่ดี
ใครที่ขับรถเป็นประจำน่าจะคุ้นชินกับการบังคับพวงมาลัยดีนะครับ โดยเฉพาะเวลาเลี้ยงซ้าย-ขวา หรือจังหวะหักสุดเพื่อยูเทิร์น ซึ่งรถบ้านทั่วไปมันจะหมุนได้ประมาณ 1 รอบครึ่ง แต่ในรถแข่งระดับเอฟวัน หากสังเกตจากกล้องในค็อกพิต แม้จะเป็นโค้งยูเทิร์น จะหักพวงมาลัยให้สุดยังไงก็ไม่ถึง 1 รอบ นั่นคือความแตกต่างที่เกิดจากการเช็ตอัตราทดพวงมาลัย
ที่ผ่านมาค่ายรถหลายยี่ห้อต่างพยายามคิดค้นและพัฒนาพวงมาลัยรถบ้านให้อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น แน่นอนครับ สิ่งแรกที่เห็นภาพชัดที่สุดคือ หากเป็นพวงมาลัยแบบ D-Shape หรือที่ค่ายรถเรียกว่า Yoke จะลดความเกะกะของพวงมาลัยที่เป็นวงกลมลงไปได้ และเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่ให้ดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้มันตอบโจทย์กับการใช้งานบนท้องถนนจริง ๆ
เพราะหากใช้พวงมาลัย D-Shape มาติดตั้งในรถบ้านแล้วยังคงอัตราทดแบบเดิม มันคงไม่ตอบโจทย์แน่นอน มีอย่างที่ไหนกำลังจะยูเทิร์น ต้องสาวพวงมาลัยแต่กลับไม่มีจุดให้จับ! Tesla เป็นเจ้าแรกที่นำพวงมาลัยที่ไม่ใช่แบบวงกลมมาติดตั้งในรถบ้านรุ่น Model S Plaid ทว่าฟีดแบ็กที่ได้รับกลับไม่เวิร์ก เนื่องจากถูกติดตั้งอยู่บนแร็กแบบเดิม ก็คือหากต้องการเลี้ยวในวงแคบสุดก็ต้องสาวเกินกว่า 1 รอบอยู่ดี
นั่นทำให้ Lexus พยายามคิดค้นเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อลบจุดอ่อนจากค่ายรถเจ้าอื่น ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และมีการเตรียมติดตั้งพวงมาลัยแบบรถแข่งไว้ในรถไฟฟ้ารุ่น RZ450e ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีใหม่แบบ steer-by-wire ที่เป็นระบบไฟฟ้า โดยที่ไม่ต้องมีการเชื่อมต่อกลไกระหว่างล้อกับพวงมาลัยอีกต่อไป แต่จะมีการคำนวณอัตราทดแบบแปรผันตามความเร็วครับ
โอ้โห! อะไรจะล้ำขนาดนั้นครับ นั่นเท่ากับว่าเวลาสาวพวงมาลัยในรถบ้านก็จะไม่ต้องสาวกันเป็นรอบแบบ 360 องศาอีกต่อไป ข้อดีของพวงมาลัยระบบนี้ก็คือการลดภาระของคนขับ โดยที่สาวพวงมาลัยแบบหักสุดก็แค่ 150-200 องศาเท่านั้น มันสามารถคุมแรงบิดในการบังคับเลี้ยวและมุมบังคับเลี้ยวของยางได้อย่างอิสระ และลดการสั่นสะเทือนจากพื้นถนนสู่พวงมาลัย (แม้ว่าอันหลังนี้มันอาจจะไม่ได้ฟีลลิ่งของคนขับรถก็ตาม)
ซึ่งไอ้เจ้าพวงมาลัยระบบนี้เริ่มมีการนำออกมาให้สื่อได้ทดสอบกันแล้ว แต่ล่าสุดยังไม่มีการนำออกมาขายอย่างเป็นทางการนะครับ ตามรายงานบอกว่า Lexus อยากจะทดสอบระบบให้พวงมาลัยระบบใหม่นี้เสถียรที่สุดก่อนติดตั้งเพื่อนำออกขายจริง ๆ และหากไม่ทันในรุ่น RZ450e ก็อาจจะเป็นรถไฟฟ้าโมเดลถัดไปของค่ายแทน
เพราะขนาด Tesla ที่ปล่อยพวงมาลัยระบบนี้ออกมาเป็นเจ้าแรก ยังถอยทัพกลับไปใช้พวงมาลัยแบบวงกลมแบบเดิมก่อน และเพิ่มพวงมาลัยแบบ D-Shape หรือ Yoke นี้เป็นออปชันเสริมเท่านั้น แต่หากวันใดที่ระบบนี้เสถียร บอกเลยว่านี่คืออีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกยานยนต์ เพราะพวงมาลัยของรถคุณจะไม่ต้องเป็นวงกลมอีกต่อไปครับ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.