รีวิว Hyundai IONIQ 5 อีวีเกาหลีดีไซน์โดนใจ กับงบเริ่มต้น 1.699 ล้านบาท

Hyundai IONIQ 5 รถยนต์ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ ที่มีความโดดเด่นด้วยดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร กับสมรรถนะการขับขี่ไม่แพ้เจ้าตลาด แต่จะคุ้มค่ากับงบประมาณเริ่มต้น 1.699 ล้านบาทขนาดไหน ติดตามได้กับ Sanook Auto ในบทความนี้ครับ

ในยุคที่รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนแทบจะครองตลาดเมืองไทยไปเรียบร้อยแล้วนั้น ฮุนได โมบิลิตี้ ประเทศไทย (HMT) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทแม่จากเกาหลีใต้ ก็ได้ส่ง IONIQ 5 มาชิมลางลูกค้าชาวไทย ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่ง EV สัญชาติยุโรปและญี่ปุ่น ด้วยระดับราคา 1.699 - 2.399 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงเอาการสำหรับการตีตลาดแมส (Mass) แต่ก็เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเตรียมควักกระเป๋าจับจองเป็นเจ้าของ ด้วยรูปทรงที่ดูแปลกตาไม่ซ้ำใคร บวกกับความน่าเชื่อถือของแบรนด์ Hyundai ที่มีชื่อเสียงระดับโลกไม่แพ้ค่ายญี่ปุ่น

Hyundai IONIQ 5 มีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ผลิตและนำเข้าจากเกาหลีใต้ทั้งหมด ได้แก่

  • รุ่น Premium ราคา 1,699,000 บาท
  • รุ่น Exclusive ราคา 1,899,000 บาท
  • รุ่น First Edition ราคา 2,399,000 บาท

สำหรับรุ่นที่เราได้ทดสอบในครั้งนี้เป็นรุ่น First Edition ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างไปจากอีก 2 รุ่นย่อยที่เหลือ แต่ก็มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ขนาดเดียวกับรุ่น Exclusive (รุ่นกลาง) เปี๊ยบ แถมยังมีอุปกรณ์มาตรฐานเกือบจะเท่าๆ กัน แลกกับราคาจำหน่ายที่แตกต่างกันถึง 500,000 บาทเลยทีเดียว

ดีไซน์ภายนอกเป็นเอกลักษณ์ พร้อมขนาดตัวถังใหญ่โตกว่าที่คิด

Hyundai IONIQ 5 โดดเด่นด้วยดีไซน์ภายนอกแบบ Parametric Pixels Design เน้นเส้นสายที่เฉียบคมและสะอาดตา สะท้อนถึงฮุนไดรุ่นคลาสสิกอย่าง Pony ที่คนไทยอาจไม่คุ้นหูนัก แต่มันคือรถยนต์ Mass production รุ่นแรกของฮุนไดที่ถูกส่งออกไปทำตลาดนอกประเทศเกาหลีใต้ จึงถือเป็นโมเดลสำคัญที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบของแบรนด์ IONIQ ใหม่ล่าสุดนี้ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าดูเผินๆ IONIQ 5 จะเหมือนกับรถแฮทข์แบ็ก 5 ประตูทั่วไป แต่เมื่อมาเห็นคันจริงแล้วต้องบอกว่าตัวรถมีขนาดใหญ่กว่าที่คิดไว้ ด้วยความยาวตัวถัง 4,635 มม. ความกว้าง 1,890 มม. เกือบจะเท่ากับ BMW X3 และ Mercedes-Benz GLC เข้าไปแล้ว ขณะที่ความยาวฐานล้อก็มากถึง 3,000 มม. เทียบกับ BMW 5 Series G60 รุ่นปัจจุบันที่มีความยาวฐานล้อ 2,995 มม. ส่งผลให้มีพื้นที่ห้องโดยสารกว้างขวางทั้งตอนหน้าและตอนหลัง

อุปกรณ์มาตรฐานแน่น ในแพ็กเกจที่ใช้งานง่าย

ต้องยอมรับว่ารถ EV ในปัจจุบันนอกจากจะแข่งกันที่สมรรถนะและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่แล้วนั้น หากเป็นแบรนด์จากจีนยังแข่งกันที่จำนวน “ของเล่น” ต่างๆ ที่ให้มา ยิ่งบนโบรชัวร์มีรายชื่ออุปกรณ์มาตรฐานมากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความรู้สึกคุ้มค่าแก่ผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้น แต่การใช้งานจริงกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย

ขณะที่ฮุนไดถือเป็นแบรนด์รถยนต์เก่าแก่ที่มีประวัติการพัฒนารถยนต์มาอย่างโชกโชน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ให้มาจึงถือว่าเหมาะสำหรับการใช้งานจริง ไม่ได้ตะบี้ตะบันใส่ระบบบ้าบอมากมายจนเกินความจำเป็นต่อการใช้งาน

ดีไซน์ภายนอกของ IONIQ 5 ถูกออกแบบให้มีความทันสมัย โดดเด่นเมื่ออยู่บนท้องถนน มาพร้อมไฟหน้า Parametric Pixel LED ที่มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ขณะที่กันชนหน้ามาพร้อมช่องระบายอากาศแบบ Active Air Intakes ที่สามารถเปิดและปิดการรับอากาศได้โดยอัตโนมัติ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการระบายความร้อนและการไหลเวียนอากาศตามหลักแอโรไดนามิก

ทุกรุ่นย่อยมาพร้อมกระจกบังลมหน้า Acoustic ช่วยกันเสียงรบกวน ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ กระจกมองข้างปรับและพับด้วยไฟฟ้า มือเปิดประตูภายนอกแบบป๊อปอัปที่เรียบไปกับตัวถัง และจะยกตัวขึ้นต่อเมื่อปลดล็อกประตู ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบ Smart และล้ออัลลอยขนาด 19 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด 235/55 R19

ส่วนรุ่น First Edition จะถูกเพิ่มเติมด้วยหลังคากระจก Vision Roof พร้อมม่านบังแดดไฟฟ้า และล้ออัลลอยลวดลายพิเศษเฉพาะรุ่นขนาด 20 นิ้ว

ภายในห้องโดยสารเรียกได้ว่าโอ่อ่า กว้างขวาง โปร่งสบาย ทั้งพื้นที่เหนือศีรษะ และพื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารแถวที่ 1 และแถวที่ 2 โดยทุกรุ่นถูกติดตั้งเบาะนั่งคู่หน้าปรับไฟฟ้าพร้อมระบบดันหลัง หุ้มด้วยวัสดุหนัง Eco-Friendly แบบมีรูระบายอากาศ

ในรุ่น First Edition ยังเพิ่มความพิเศษด้วยระบบปรับเบาะอุ่น-เย็น, เมมโมรี่เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่ 2 ตำแหน่ง และระบบปรับเอนนอนแบบ Zero Gravity พร้อมที่พักขา (เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่) ซึ่งจะเป็นการปรับเบาะนั่งทั้งตัวเอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย จะช่วยกระจายน้ำหนักของร่างกายเฉลี่ยเท่าๆ กันคล้ายกับเก้าอี้ Recliner ภายในบ้าน ช่วยเพิ่มความสบายขณะรอชาร์จไฟภายในรถ

ขณะที่เบาะนั่งแถวที่ 2 รองรับผู้ใหญ่ 3 คนได้แบบไม่อึดอัด มีพนักพิงศีรษะให้ 3 ตำแหน่ง และสามารถปรับเอนพนักพิงเพื่อความสบายในการโดยสารได้ โดยจะแบ่งเป็นสองฝั่งแบบ 60:40 อีกทั้งเบาะรองนั่งยังมีขนาดใหญ่ รองรับสะโพกและต้นขาได้อย่างเต็มที่ ขณะที่พื้นห้องโดยสารเป็นแบบเรียบสนิทไร้อุโมงค์เพลากลางแบบรถสันดาปขับเคลื่อนล้อหลัง จึงสามารถวางขาได้อย่างเต็มที่ทุกตำแหน่ง โดยรวมแล้ว IONIQ 5 เป็นรถที่รองรับการใช้งานทั้งครอบครัวได้อย่างสบายเลยทีเดียว

บริเวณประตูคู่หลังทั้ง 2 ฝั่งยังมีม่านบังแดดที่สามารถดึงขึ้นเพื่อแขวนไว้กับขอบหน้าต่างด้านบนได้ ครอบคลุมพื้นที่กระจกเกือบจะ 100% ช่วยลดความร้อนที่แผ่เข้ามายังห้องโดยสาร แต่ยังคงมองเห็นภายนอกทำให้รู้สึกไม่อึดอัด

เบื้องหน้าผู้ขับขี่เป็นพวงมาลัยแบบ 2 ก้าน จับกระชับมือ โดยบริเวณกลางพวงมาลัยถูกออกแบบให้เป็นรูปจุด 4 จุดเรียงกันในแนวนอน ซึ่งก็คือรหัสมอร์สแทนสัญลักษณ์รูปตัว H ที่ย่อมาจากคำว่า Hyundai นั่นเอง ปุ่มมัลติฟังก์ชันต่างๆ ถูกจัดวางไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย ขณะที่ก้านเลือกตำแหน่งเกียร์ถูกติดตั้งไว้หลังพวงมาลัย ใช้งานด้วยการหมุนขึ้น-ลง เมื่อต้องการเข้าเกียร์ P ก็แค่กดปุ่มบริเวณปลายคันเกียร์ก็เรียบร้อย

ส่วนปุ่มควบคุมระบบเบรกมือไฟฟ้าถูกติดตั้งไว้บริเวณแผงคอนโซลด้านขวามือของผู้ขับขี่ พร้อมปุ่มระบบ Auto Hold เพื่อช่วยคาเบรกขณะจอดติดไฟแดงโดยอัตโนมัติ รวมถึงปุ่มควบคุมระดับไฟหน้าตามน้ำหนักบรรทุกแบบแมนนวล

บริเวณหลังพวงมาลัยยังมีก้าน Renerative Paddle Shifters เพื่อเลือกระดับการหน่วงขณะปล่อยคันเร่ง โดยสามารถปรับความหน่วงได้ 3 ระดับ แลกกับปริมาณการชาร์จไฟกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่ และยังสามารถดึงก้านข้างซ้ายเข้าหาตัวค้างไว้สักครู่เพื่อเปิดโหมด i-Pedal ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถหยุดรถจนนิ่งสนิทโดยไม่ต้องเหยียบเบรก เพียงแค่ปล่อยเท้าออกจากคันเร่งเท่านั้น

หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ Supervision Instrument Cluster มีขนาด 12.3 นิ้ว สามารถปรับรูปแบบการแสดงผลตามโหมดการขับขี่ได้ เชื่อมเข้ากับหน้าจออินโฟเทนเมนท์แบบสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว มี Interface ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto เสริมด้วยระบบเสียง BOSE 8 ลำโพง (ยกเว้นรุ่น Premium) มีช่อง USB สำหรับเชื่อมต่อ 1 ช่อง สำหรับชาร์จไฟอีก 4 ช่อง (หน้า 2 หลัง 2) รวมถึงมีแป้น Wireless Charger มาให้อีกต่างหาก

บริเวณใต้หน้าจอสัมผัสยังมีปุ่มปรับ Volume และปุ่ม Shortcut ทั้งหลายแหล่วางเรียงรายอยู่ ทำให้การใช้งานทำได้สะดวกขึ้นแม้ว่ากำลังขับรถอยู่ก็ตาม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเป็นสิ่งที่ผู้เขียนชอบมาก เพราะการรวมทุกอย่างแม้กระทั่งปุ่มปรับเสียงไว้บนหน้าจอสัมผัส เป็นอะไรที่ช่างไม่สะดวกเอาเสียเลย แบบนี้แหละถือว่าใช้งานได้จริง และยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะขับรถได้อีกด้วย

ส่วนปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศถูกแยกเอาไว้ต่างหากเช่นกัน โดยเป็นระบบปรับอากาศอัตโนมัติ 2 โซน แยกปรับอุณหภูมิอิสระซ้าย-ขวา ส่วนคอมแอร์ไฟฟ้าให้ความเย็นรวดเร็วทันใจดี ไม่เป็นปัญหาสำหรับการใช้งานในเมืองร้อนอย่างบ้านเราแต่อย่างใด

ขณะที่อุปกรณ์มาตรฐานอื่นก็มีให้แบบครบๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟเรืองแสง Ambient Light ปรับได้ 64 สี, กุญแจ Smart Keyless Entry, ปุ่มสตาร์ท Push Start Button, กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ และระบบความปลอดภัย Hyundai SmartSense เป็นต้น

ระบบความปลอดภัย Hyundai SmartSense ประกอบด้วย

  • ระบบ Smart Cruise Control with Stop and Go
  • ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ FCA
  • ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติที่ทางแยก FCA-JT
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่กลางเลน LFA
  • ระบบช่วยเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถ RCCA
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตา BCA
  • ระบบป้องกันการเปิดประตูเมื่อมีรถวิ่งมาด้านข้าง SEA
  • ระบบกล้องมองภาพจุดอับสายตา BVM
  • กล้องมองรอบทิศทาง Surround View Monitor
  • ระบบช่วยเตือนอากาศเหนื่อยล้า DAW

ขณะที่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ได้แก่ ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า, ด้านข้างคู่หน้า และม่านถุงลม), ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC, ระบบเบรก ABS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC, ระบบช่วยหยุดรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ MCB (Multi-Collision Brake), ระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง TPMS, เซ็นเซอร์ช่วยจอดหน้า-หลัง และระบบ VESS จำลองเสียงเครื่องยนต์เพื่อความปลอดภัยของคนเดินถนน

มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อหลังทุกรุ่นย่อย

สำหรับรุ่น First Edition และ Exclusive ถูกติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 217 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังไปยังล้อคู่หลังทั้งหมด พร้อมแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุ 72.6 kWh ให้ระยะทางขับขี่ 451 กม. ในรุ่น First Edition และ 481 กม. ในรุ่น Exclusive (แตกต่างกันเนื่องจากขนาดของล้อ) ตามมาตรฐาน WLTP

โดยทั้ง 2 รุ่นสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 7.4 วินาที จำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 185 กม./ชม. ซึ่งฮุนไดระบุถึงสาเหตุที่ไม่นำเอารุ่นมอเตอร์คู่เพราะต้องการเน้นระยะทางขับขี่มากกว่า ขณะที่สภาพถนนในประเทศไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบขับเคลื่อน AWD ในรถยนต์นั่งเหมือนกับประเทศเมืองหนาวที่อาจต้องใช้งานบนหิมะที่มีสภาพลื่นมากกว่าปกติ ซึ่งก็ถือเป็นแนวความคิดที่ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว เพราะรถยนต์ไฟฟ้ายิ่งมีระยะทางขับขี่มากเท่าไหร่ ก็ช่วยลดความกังวลในการใช้งานได้มากขึ้นเท่านั้น

ส่วนรุ่น Premium ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 170 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร แต่ลดขนาดแบตเตอรี่ลงเหลือ 58 kWh จึงมีระยะทางขับขี่สูงสุดราว 384 กิโลเมตร ให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 8.5 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 185 กม./ชม. เท่ากับอีกสองรุ่น

การชาร์จไฟทุกรุ่นย่อยรองรับการชาร์จด่วนกำลังไฟสูงสุด 350 kW ระบบ DC ผ่านหัวชาร์จแบบ CCS2 Combo ซึ่งถ้าหากมีตู้ชาร์จที่ให้กำลังไฟเท่านั้นได้จริง จะสามารถชาร์จจาก 10-80% ในเวลาราว 17 นาที แต่ในความเป็นจริงจะหาตู้ที่จ่ายไฟเกิน 100 kW ตลอดการชาร์จได้ก็หรูแล้ว (และแน่นอนว่าหากชาร์จ DC เกิน 80% ตู้ชาร์จก็จะค่อยๆ ลดกระแสไฟลงเพื่อความปลอดภัย)

นอกจากนี้ ในรุ่น Exclusive และ Premium ยังมีระบบ V2L เพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกอื่นๆ ได้ โดยฮุนไดจะแถมสายชาร์จ V2L มาให้กับตัวรถโดยไม่ต้องซื้อเพิ่ม

IONIQ Service Package

Hyundai IONIQ 5 ทุกคันมาพร้อมบริการ V2V (Vehicle 2 Vehicle) Charge Here Service กรณีแบตเตอรี่เหลือน้อยกว่า 20% จะมีรถโมบาย (ซึ่งก็คือ IONIQ 5 เหมือนกัน) มาให้บริการชาร์จไฟสูงสุด 15 kW ต่อ 1 ครั้ง ให้บริการฟรี 2 ครั้งต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.00 - 17.00 น.

บริการ Pick up and Delivery รับ-ส่งรถฟรีเพื่อเข้ารับบริการเช็กระยะและซ่อมทั่วไป ให้บริการฟรี 2 เที่ยว ต่อระยะเวลา 2 ปี เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันจันทร์-เสาร์ เวลา 07.00 - 17.00 น.

บริการยก/ลากไม่จำกัดจำนวนครั้งในระยะเวลา 5 ปี กรณีรถเสียฉุกเฉิน โดยลากไปยังศูนย์บริการของฮุนไดอย่างเป็นทางการ หรือจุดชาร์จไฟที่ใกล้ที่สุดโดยไม่จำกัดระยะทาง รวมถึงบริการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคตลอด 24 ชั่วโมง กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือรถเสีย เป็นต้น

สมรรถนะการขับขี่เป็นเลิศสมกับแบรนด์ชั้นนำ แต่...

ในด้านการขับขี่ต้องบอกว่า Hyundai IONIQ 5 สามารถตอบสนองในด้านอัตราเร่งได้อย่างรวดเร็วทันใจอย่างที่คาดหวังจากรถยนต์ไฟฟ้าที่มีพละกำลัง 217 แรงม้า และแรงบิด 350 นิวตัน-เมตร (รุ่น First Edition) การซอกแซกในเมืองทำได้อย่างคล่องตัว สามารถเร่งแซงได้อย่างรวดเร็วทันใจ โดยไม่มีเสียงเครื่องยนต์มารบกวน ขณะที่น้ำหนักพวงมาลัยก็เซ็ตมาลงตัว มีความเบาขณะขับขี่ที่ความเร็วต่ำ ควบคุมง่าย และจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเมื่อใช้ความเร็วสูง โดยรวมแล้วถือว่ากลมกล่อมลงตัว

ส่วนช่วงล่างด้านหน้าแบบแม็กเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังแบบ Multi-link พร้อม High Performance Dampers อันที่จริงก็เกือบจะเพอร์เฟ็กต์ 100% ทั้งในด้านการซับแรงสะเทือนและเสถียรภาพการทรงตัวที่ความเร็วสูง หากแต่ช่วงล่างด้านหลังจะมีอาการติดย้วยไปสักเล็กน้อย ผิดกับด้านหน้าที่ให้ความเฟิร์มแบบพอดิบพอดี ซึ่งเหตุผลข้อเดียวที่คิดออกว่าทำไมฮุนไดถึงเลือกเซ็ตช่วงล่างออกมาแบบนี้ ก็คงเป็นเรื่องของการเซฟแบตเตอรี่ไม่ให้ได้รับแรงกระแทกจากพื้นถนนมากจนเกินไปนั่นเอง (ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้นเพราะสภาพถนนบ้านเราเป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดเสียเหลือเกิน)

แต่ปัญหาช่วงล่างหลังที่ย้วยดังกล่าวดูเหมือนจะกระทบต่อผู้ขับขี่เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อสลับมานั่งเป็นผู้โดยสารตอนหลังก็พอว่ามันช่วยซับแรงสะเทือนได้ดีเหมือนกัน ทำให้การโดยสารค่อนข้างสบาย ไม่แข็งกระด้างจนน่ารำคาญ เพราะอย่าลืมว่าถึงแม้ผู้ขับขี่รถ EV ส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่นั่งไปด้วย หากว่าช่วงล่างแข็งตึงตังถึงขั้นเก็บทุกรอยต่อของถนนแล้วล่ะก็ น่าจะได้ยินเสียงบ่นจากคนนั่งหลังกันบ้างแหละ

บนหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ 12.3 นิ้ว ยังสามารถแสดงภาพจากกล้องด้านข้างได้ทั้งซ้ายและขวาเมื่อเปิดไฟเลี้ยว (คล้ายกับกล้อง Honda LaneWatch เพียงแต่ฮุนไดเขามีระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตา BCA มาให้ด้วย) โดยมุมกล้องจะกดต่ำช่วยให้เห็นขอบถนนหรือขอบฟุตบาท เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ขับรถไม่แข็ง หรือกลัวว่าล้อจะไปเบียดกับขอบฟุตบาทขณะเลี้ยว

เปรียบเทียบก่อนและหลังเดินทาง

ส่วนอัตราการกินไฟนั้น เราออกสตาร์ทจากตึก True Digital Park ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี อันเป็นที่ตั้งของ IONIQ Lab แห่งแรกในประเทศไทย หน้าจอของรถแสดงระดับแบตเตอรี่ 95% พร้อมระยะทางขับขี่ที่วิ่งได้ 328 กิโลเมตร

เมื่อเดินทางมาถึงจุดหมายแรกที่ร้านอาหาร The Artisan Ayutthaya จ.พระนครศรีอยุธยา หน้าจอแสดงระยะทางขับขี่ไปทั้งสิ้น 92.3 กิโลเมตร เหลือแบตเตอรี่ 77% (นั่ง 3 คนเปิดแอร์เย็นฉ่ำ ความเร็วเดินทางส่วนใหญ่อยู่ในช่วงราว 100 - 110 กม./ชม.) พร้อมกับโชว์ Range คงเหลือที่ 256 กิโลเมตร (ซึ่งเท่ากับว่าลดลงไป 328 - 256 = 72 กม. เทียบกับระยะทางขับขี่จริง 92 กม.) ก็ลองเทียบบัญญัติไตรยางค์กันดูครับว่าชาร์จเต็มหนึ่งครั้งจะวิ่งจริงได้ประมาณไหน

หากเทียบคร่าวๆ ปริมาณแบตเตอรี่ 18% พาเราเดินทางข้ามจังหวัดได้ราว 92 กิโลเมตร ดังนั้นแบตเตอรี่ราว 80% ก็น่าจะพาเราไปได้ราว 330 - 360 กม. หากใช้ความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด (แม้ว่าบวกลบคูณหารออกมาจริงๆ แล้วจะได้มากกว่า 400 กม. แต่ในความเป็นจริงยังมีตัวแปรมากมายที่ทำให้ระยะทางขับขี่จริงสั้นลง) ซึ่งก็ถือว่าสอดคล้องกับที่ฮุนไดเคลมเอาไว้แต่แรก

สรุปแล้วเป็นรถ EV ที่ “กลมกล่อม” น่าใช้

Hyundai IONIQ 5 ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าคบหามากที่สุดรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในด้านงานออกแบบ อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มา รวมถึงคุณภาพของวัสดุและอินเตอร์เฟสต่างๆ ที่ค่อนข้างลงตัวมากกว่ารถจีนหลายยี่ห้อ ขณะที่บริการหลังการขายก็เชื่อว่าน่าจะทำได้ดีไม่แพ้กัน อันเป็นผลจากการที่บริษัทเข้ามาลุยดำเนินกิจการด้วยตัวเอง

ส่วนราคาจำหน่ายต้องยอมรับว่าค่อนข้างสูงกว่าที่คาดไปสักเล็กน้อย เพราะแม้ว่ารุ่น Premium จะมีราคาเริ่มต้นที่ 1.699 ล้านบาท แต่ตัวจบจริงๆ ทั้งในด้านสมรรถนะและระยะทางขับขี่คงต้องเล่นรุ่น Exclusive ที่มีราคาจำหน่าย 1.899 ล้านบาท ส่วนรุ่น First Edition ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน เพราะราคาพุ่งขึ้นไปถึง 2.399 ล้านบาท แม้ว่าราคาทั้งหมดจะสูงกว่าแบรนด์อีวีสัญชาติจีน แต่ก็แลกมาด้วย “คุณภาพ” ตามฉบับแบรนด์เก่าแก่ที่พัฒนารถยนต์มาอย่างยาวนาน ก็ขึ้นอยู่กับคุณผู้อ่านแล้วล่ะครับว่ามองหาอะไรจากรถยนต์สักคัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.