"แม่ย่านาง" เป็นใคร? แท้จริงแล้วมาจากไหน?
หากใครยังพอจำกันได้ ภาพของ แทค-ภรัณยู โพสต์ไอจี ยืนเหยียบรถลัมโบร์กินีคันหรู คู่กับ ดีเจภูมิ ผู้เป็นเจ้าของ กลายเป็นประเด็นดราม่าในชั่วข้ามคืน หลังแฟน ๆ ในโลกออนไลน์กลุ่มหนึ่งท้วงติงเรื่องการไม่เคารพ “แม่ย่านาง” ประจำรถ ส่วนแฟนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เชื่อแนวคิดนี้ก็พากันหัวเราะเยาะใส่อย่างสนุกสนาน
ความเชื่อ “แม่ย่ายาง” กับสังคมไทย
ความเชื่อแต่โบราณของสังคมไทยเริ่มมาจากการเดินเรือ ที่เชื่อว่าเรือทุกลำจะมีแม่ย่านางประทับอยู่ โดยทุกครั้งที่ออกเดินเรือก็จะมีการไหว้บูชาเพื่อสวัสดิมงคลต่อการประกอบอาชีพ รวมถึงแม่ย่านางจะช่วยคุ้มครองและปกป้องต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในท้องทะเล ก่อนที่ในเวลาต่อมาความเชื่อนี้ได้สืบต่อมายังการใช้งานยานพาหนะทุกประเภท
ขณะที่ “ต้องจิตต์ ติดจรวด” หมอดูชื่อดังได้เปิดเผยกับ Tonkit360 ถึงความเชื่อนี้ว่า จากที่ตนเองได้ที่ศึกษามา ความเชื่อนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เป็นความเชื่อในการแสดงความเคารพต่ออุปกรณ์ที่ตนเองใช้ทำมาหากินทุกชนิด อาทิ เกวียน เรือ สัตว์ลากจูง รวมถึงอุปกรณ์ทำการเกษตร
ส่วนในบ้านเราเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยากับการเดินเรือ จนมาในยุคหลังถึงเริ่มมีการนำมาใช้กับยานพาหนะอื่น ๆ โดยเฉพาะรถยนต์ พร้อมมีอุปกรณ์ประกอบพิธีไหว้บูชาและบทสวดด้วย อย่างไรก็ดี คนไทยอีกส่วนใหญ่ในฐานะชาวพุธ อาจไม่ได้บูชาแม่ย่านาง แต่ใช้วิธีอัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กบูชาในรถ ซึ่งถือเป็นแนวคิดในลักษณะเดียววัน
นักแข่งรถระดับโลกล้วนมีความเชื่อเช่นกัน
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “เดอะด็อกเตอร์” วาเลนติโน่ รอสซี่ ยอดนักบิดแชมป์โลก 9 สมัย ชาวอิตาเลียน ที่ก่อนลงแข่งทุกครั้งเขาจะนั่งลงข้าง ๆ รถมอเตอร์ไซค์คู่ใจของตัวเอง พร้อมทำสมาธิและอธิษฐานพูดคุยกับรถแข่งทุกครั้ง ซึ่งเจ้าตัวเคยบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาและรถจะได้สื่อสารกันก่อนลงสนามแข่ง รวมถึงการบรรจงกอดรถแข่งหลังขับคว้าชัยก็เป็นภาพที่แฟนความเร็วได้เห็นจนชินตา
ขณะที่ฝั่งฟอร์มูล่า วัน เซบาสเตียน เวทเทล แชมป์โลก 4 สมัย มีธรรมเนียมปฏิบัติด้วยการตั้งชื่อให้กับรถแข่งที่ตัวเองใช้ในทุกฤดูกาล นับตั้งแต่เข้าสู่วงการรถสูตรหนึ่ง ปี 2008 โดยทุกชื่อเป็นชื่อของสุภาพสตรีทั้งสิ้น ส่วนแดเนียล ริคคิอาร์โด นักขับทีมแม็คลาเรน ก็มีความเชื่อในการไหว้รถและสนามแข่งก่อนลงสนามทุกครั้งเช่นกัน
ไม่เชื่อ ไม่ควรลบหลู่
สุดท้ายประเด็นของการโพสต์รูปของดาราคนดัง จริง ๆ แล้วเชื่อว่าเป็นภาพที่เจตนาออกมาในเชิงสนุกสนาน ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ใด ๆ ทว่าสิ่งที่สะท้อนจากคอมเมนต์ต่อ ๆ กันมา แสดงให้เห็นว่าสังคมโซเชียลยุคนี้พร้อมต่อต้านในสิ่งที่พวกเขาไม่เชื่อ และมองความเชื่อนั้นเป็นสิ่งผิดทันที
อย่างไรก็ดี “ความเชื่อ” ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่คนนั้น ๆ ทำแล้วสบายใจและไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ไม่มีผิด ไม่มีถูกแต่อย่างใด แล้วคุณล่ะ มีความเชื่อแบบไหนกันบ้าง เมื่อขึ้นไปนั่งอยู่หลังพวงมาลัย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.