กกต. ร่อนหนังสือ จี้ รมว.พลังงาน ชง ครม. ตั้ง "เทพรัตน์" นั่งผู้ว่าการ กฟผ.

รายงานข่าวระบุว่า จากกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช ประธานกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ได้เปิดรับสมัครผู้ว่าการ กฟผ. แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ที่จะครบวาระในวันที่ 21 ส.ค.2566 ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. - 3 ก.พ. 2566 โดยมีผู้สมัครฯ เข้ารับการคัดเลือก ซึ่งมีคุณสมบัติเบื้องต้นเป็นไปตามประกาศ จำนวนทั้งสิ้น 4 ราย ดังนี้

1. นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่

2. นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน

3. นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง

4. นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

โดยกรรมการสรรหาฯ เมื่อวันที่  27 ก.พ.2566 เสียงข้างมากได้เลือกนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ต่อบอร์ด กฟผ. 

ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด กฟผ.) วันที่ 8 มี.ค. 2566 โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จัดประชุมวาระพิเศษ พร้อมมีมติเลือกนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกได้ผ่านการเจรจาต่อรองเรื่องค่าตอบแทนสามารถตกลงกันได้ ตามเงื่อนไขของ สคร.

อนึ่ง การสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ.ครั้งนี้ดำเนินการตามข้อบังคับ กฟผ.ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนของผู้ว่าการ และคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่า ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2563 นอกจากนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ ต้องดำเนินการให้มีการแต่งตั้งและจ้างผู้ว่าการให้เสร็จภายใน 1 ปี นับจากวันที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง

รายงานข่าวระบุว่า แม้ขั้นตอนการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. จะแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2566 แต่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมัยรัฐบาล พ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่นำเสนอรายชื่อต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ แต่มาเสนอชื่อในวันที่ 2 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการอนุมัติ ดังนั้น เมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการจึงต้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือถึง กกต. ถึง 2 ครั้ง เพื่อให้พิจารณามติ ครม. รักษาการถึงการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 โดย กกต. ให้ความเห็นว่า ให้รอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเหมือนเช่นเคย ดังนั้น เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ก็ไม่น่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และ สลค. ได้ทำหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0508/19808 ลงวันที่ 18 ก.ย. 2566 ส่งถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. (นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์) 

โดย สลค.ได้แนบสำเนาหนังสือกกต. ด่วนที่สุดที่ ลต 0019/16111 ลงวันที่ 6 ก.ย. 2566 มีใจความว่า

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 เห็นชอบแต่งตั้งนายเทพรัตน์  เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (2) แล้ว

ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 48/2566 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุม กกต. มี "มติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบกรณีการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่าการ กฟผ." เนื่องจากนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนก่อน จะหมดวาระในวันที่ 21 ส.ค. 2566 ยังไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ควรรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา

ต่อมา กระทรวงพลังงาน ได้เสนอเรื่องการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน เสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ไปให้ กกต. พิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง และเห็นชอบให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติว่า 

กรณีที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องได้เสนอเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน นำเสนอต่อ ครม. ตามนัยของมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบหรืออนุมัติในเรื่องนั้น และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 (2) แล้ว

“หากเรื่องใด กกต. พิจารณาแล้วไม่เห็นชอบด้วยกับมติ ครม. แต่หน่วยงานเจ้าของเรื่องยังคงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ หากล่าช้าออกไปจะเกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน และอาจส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องหรือประชาชนโดยรวมได้ รวมทั้งไม่สามารถจะชะลอเรื่องไว้จนกว่า ครม. ชุดใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศได้ ก็ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องทำหนังสือแจ้งยืนยันข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องนั้นอย่างเร่งด่วนไปยัง กกต. เพื่อขอให้ กกต. พิจารณาทบทวนผลการพิจารณาของ กกต. ในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งต่อไป”

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จึงได้จัดส่งข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพิ่มเติม กรณีการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. (นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์) ให้ กกต. พิจารณาอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ต่อมา กกต. ทำหนังสือแจ้ง สลค. ว่า “เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว จึงขอส่งเรื่องดังกล่าวคืนให้ครม. ชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อทราบ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทาง สลค. จึงทำหนังสือสลค. ที่ นร 0508/19808 แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบ ทั้งนี้ หากกระทรวงพลังงาน ประสงค์จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อครม. ขอได้โปรดดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย”

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ยังต้องรอให้มีการแต่งตั้ง บอร์ด กฟผ. แล้วเสร็จก่อน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กกต. จะมีความเห็นให้อำนาจ ครม. ชุดปัจจุบัน อนุมัติ แต่หลักคิดของเรื่องนี้ คือ ในช่วงที่มีกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ได้ผ่านคณะกรรมการสรรหาฯ และ บอร์ด กฟผ. ดังนั้น เมื่อต้องเปลี่ยนกรรมการ กฟผ. ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ว่าจะในฐานะปลัดกระทรวงพลังงาน หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถือเป็นเพียงผู้นำเสนอรายชื่อเข้า ครม. เท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนบอร์ด กฟผ. ก็ควรให้กรรมการ กฟผ. พิจารณาอีกครั้ง โดยเฉพาะ 2 ประเด็นหลัก คือ  1. กระบวนการสรรหา 2. เมื่อมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. แล้วจะดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงานหรือรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีตัวดัชนีชี้วัด (KPI) 

ส่วนกรณีที่นายเทพรัตน์ จะมีอายุการทำงานเหลือไม่ถึง 2 ปี หากต้องรอบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่นั้น จะต้องดูระเบียบว่าข้อปฏิบัติดังกล่าวเป็นเงื่อนไขอยู่ในพระราชบัญญัติหรือเป็นระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการฯ จึงจะต้องไปดูข้อบังคับตัวนี้อีกครั้ง หากเป็นระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการฯ แล้วจะมีการอนุโลมได้หรือไม่ ถ้าหารือแล้วทำงานร่วมกันได้ มีแนวนโยบายไปในทิศทางเดียวกันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็อาจจะอนุโลมได้ อยู่ที่การตกลงร่วมกัน 

"โจทย์หลักที่ บอร์ดกฟผ. จะให้นายเทพรัตน์ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ อาทิ การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น"

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.