ETDA เปิดวิธีการแจ้งข้อมูลกฎหมาย DPS ไม่ยากอย่างที่คิด
ดังนั้น กฎหมายนี้จึงเป็นอะไรที่น่าจับตามองมาก เพราะว่าผู้ใช้บริการ ผู้บริโภคอย่างเราก็จะได้รับความเป็นธรรมในการใช้งานแพลตฟอร์ม หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีที่รับแจ้งปัญหาอย่างถูกต้อง สามารถติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ส่วนทางแพลตฟอร์มเองก็จะได้รับความไว้วางใจจากเหล่าพ่อค้าแม่ค้า ผู้ใช้บริการมากขึ้น เพราะมีการดูแล ตลอดจนการให้บริการที่เป็นธรรมและโปร่งใสขึ้น
ที่สำคัญการมาของกฎหมายนี้จะเข้าช่วยให้ระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้นเพิ่มความมั่นใจในการใช้งาน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย เพราะหนึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การกำหนดหน้าที่ให้ ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จะต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ ให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิสก์ หรือ ETDA ทราบ ซึ่ง ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ลักษณะไหน แบบไหนที่ต้องเข้ามาแจ้ง และมีขั้นตอนอย่างไรบ้างนั้น ไปดูกัน!
• ลักษณะและประเภทของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปที่ต้องแจ้งให้ทราบ ภายใน 18 พ.ย. 66 นี้
กฎหมายฉบับนี้ระบุให้เจ้าของแพลตฟอร์มที่มีลักษณะดังนี้ต้องมาแจ้งการประกอบธุรกิจ ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 นั้น จะครอบคลุมหลายธุรกิจไม่ใช่แค่อีคอมเมิร์ซที่ให้ผู้ซื้อกับผู้ขายอย่างเดียวเหมือนที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นบริการสื่อกลางที่ให้ผู้ใช้บริการ 2 ฝ่ายมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งอาจเป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคกับผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการกับผู้บริโภคก็ได้ โดยมีตัวอย่างประเภทของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้ง ดังนี้
- แพลตฟอร์มที่เป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผ่านเครือขายอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace Platform)
- แพลตฟอร์มแชร์หรือที่แบ่งปันทรัพยากรหรือบริการ เช่น บริการแชร์รถยนต์ บริการแชร์ที่พัก บริการจัดหาแม่บ้านหรือช่าง
- แพลตฟอร์มใช้ในการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคน
- แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้างและแบ่งปันเนื้อหากับคนอื่นๆ
- แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ ครอบคลุมทั้งภาพ เสียงและวิดีโอ
- แพลตฟอร์มที่รวบรวมและนําเสนอข่าวสารจากแหล่งข่าวต่างๆไว้ที่เดียว
- แพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล (Searching Tools)
- แพลตฟอร์มแผนที่ออนไลน์
- แพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์
- แพลตฟอร์มผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistants) ให้ข้อมูล ตอบคําถาม หรือควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ
- แพลตฟอร์มบริการคลาวด์ (Cloud Service Platform)
- ระบบปฏิบัติการ (Operating System)
- เว็บเบราว์เซอร์ (web browsers)
- ผู้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider)
- ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting)
ผู้มีหน้าที่แจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้ ETDA ทราบ อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน
1. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคลที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี
3. มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยเกิน 5,000 คนต่อเดือน โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด
ถ้าหากหน่วยงานหรือธุรกิจไหนไม่มั่นใจว่าธุรกิจของตัวเองเข้าข่ายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือเปล่า ทาง ETDA ได้เปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถประเมินตัวเองได้ง่าย ๆ ผ่านเครื่องมือ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment ในรูปแบบของการตอบคำถามง่ายๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการแจ้งการประกอบธุรกิจกับทาง ETDA โดยระบบประเมินตนเองนี้ จะครอบคลุมทั้ง ข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถาม ข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวกับลักษณะการให้บริการ และคำแนะนำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการทำแบบประเมินดังกล่าว ประมาณ 5 นาที และเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งผลการประเมินให้ท่านทราบว่าธุรกิจบริการของท่านเข้าข่ายเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือไม่ เพื่อให้ท่านสามารถเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับการจดแจ้งในลำดับต่อไป
• เราจะต้องใช้ข้อมูลและเอกสารอะไรบ้าง?
ธุรกิจที่เข้าข่ายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องเตรียมข้อมูลหลักฐานตามรายการดังต่อไปนี้โดยยื่นจดแจ้งกับ ETDA
1. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เลขบัตรประชาชนพร้อมที่อยู่ ช่องทางการติดต่อ หากเป็นนิตินิติบุคคลจะใช้ข้อมูลเลขทะเบียนนิติบุคคล และรอบระยะเวลาบัญชีเพิ่มด้วย
2. ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ประกอบด้วยชื่อและประเภทของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในไทย ระบุช่องทางให้บริการ เช่น ยูอาร์แอล (URL) หรือแอปพลิเคชัน พร้อมระบุรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการ
3. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ประเภทของผู้ใช้บริการ เช่น ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ผู้ทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล จำนวนของผู้ใช้บริการรวมและแยกตามผู้ใช้บริการแต่ละประเภท รวมถึง ประเภทของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ขนส่งสินค้า ผู้ให้บริการคลังสินค้า พร้อมระบุจำนวนรวมของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องและจำนวนของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องแต่ละประเภท
4. ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนที่มีจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก รวมถึงการจัดการเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาท
5. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักร ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจ อยู่นอกราชอาณาจักร
6. คำยินยอมให้สำนักงานเข้าถึงข้อมูลที่ได้
หากต้องการคำปรึกษามีข้อสงสัยก็สามารถลงทะเบียน เพื่อเตรียมความพร้อมขอรับคำปรึกษา "การแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล" แนวทางการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการขอรับคำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ผ่านทางออนไลน์ได้
https://forms.office.com/pages/responsepage.aspx?id=pDQnmfrfwE-2dWbs_jr-DJ9Gcq-veUdDmgXD1RrsHhdUQUxVS083MUFaV0hPNFhEV0VJMTA0Rk5XMi4u
• แล้วเราสามารถแจ้งการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางไหนได้บ้าง?
ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายสามารถแจ้งได้ 2 ช่องทางหลัก คือ
1. ระบบจดแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Website) ของ สพธอ. http://eservice.etda.or.th/dps/
2. ศูนย์กํากับดูแลและตรวจสอบธุรกิจ สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ชั้น 21 อาคารเดอะ ไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระรามเก้า (อาคารบี) โทรศัพท์ 02 123 1234 เวลา 08.30–17.30 น.
• ขั้นตอนการลงทะเบียน
- กรณีที่ลงทะเบียนด้วยตัวเองที่ ETDA
สำหรับผู้ประกอบการหรือธุรกิจไหนที่ต้องการลงทะเบียนด้วยตัวเอง จะต้องไปแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ศูนย์กํากับดูแลและตรวจสอบธุรกิจ สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
1. ติดต่อเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นจะได้รับแบบฟอร์มการแจ้งก่อนการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและแบบแสดงรายการข้อมูลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
2. กรอกข้อมูลประกอบด้วย
- ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
- ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
- ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ
- ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก
- ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ
3. เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว จะออกใบรับแจ้งให้โดยลงวันที่ที่รับแจ้ง
4. เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบรับแจ้งแล้ว สามารถเริ่มประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ใบรับแจ้ง
- กรณีที่ลงทะเบียนผ่านเว็บ
1. สร้างบัญชีผู้ใช้งานใหม่ด้วยการลงทะเบียนและขอสิทธิการใช้งานระบบ
2. กรอกข้อมูลประกอบด้วย
- ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
- ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
- ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ
- ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก
- ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ
3. หากส่งข้อมูลนอกเวลาทำการ เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องในวันทำการถัดไป เมื่อเจ้าหน้าตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว จะออกใบรับแจ้งให้โดยลงวันที่ที่รับแจ้ง
4. เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบรับแจ้งแล้ว สามารถเริ่มประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ใบรับแจ้ง
• กำหนดการแจ้งการประกอบธุรกิจและบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ
บริการที่เข้าข่ายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถเข้าไปแจ้งการประกอบธุรกิจกับ ETDA ได้เลยโดยผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการมาก่อนวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นั้น หากอยู่ในกลุ่มของแพลตฟอร์มทั่วไป จะต้องแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 หากไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า แพลตฟอร์มนั้นมาแจ้งข้อมูลกับ ETDA แล้ว?
หลังจากที่ทางผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้แจ้งให้ทาง ETDA ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง ETDA จะมีเครื่องหมายรับรองให้ทางผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเป็นการยืนยันว่าได้แจ้งการประกอบธุรกิจกับ ETDA แล้ว ทางผู้ประกอบธุรกิจเองก็จะสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการได้เลย ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ที่ให้ผู้ใช้บริการสังเกตได้ว่าธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้มีการมาแจ้งให้ ETDA ทราบแล้ว
ในส่วนของคนทั่วไปก็จะสามารถตรวจสอบได้อีกด้วยเช่นกัน โดย ETDA จะมีเว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/index.aspx ที่สามารถให้เราไปตรวจเช็คได้ว่าบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ ได้มีการแจ้งให้ ETDA ทราบหรือยัง เผื่อบางคนอาจจะไม่มั่นใจว่าเครื่องหมายรับรองนั้นของจริงหรือไม่ การตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ ETDA ก็จะอีกทางหนึ่งที่น่าเชื่อถือในการตรวจสอบได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.