ชี้เงินบาทอ่อนต่อเช้านี้แตะระดับ37.07บาทต่อดอลลาร์ไปแล้ว
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 37.07 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.20 บาท/ดอลลาร์
ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.91-37.05 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น ตามรายงานดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้ส่งผลให้ ราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่อง และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ทว่า หุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent Seven) นำโดย Nvidia +3.0% สามารถปรับตัวขึ้น แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทำจุดสูงสุดใหม่ทะลุระดับ 4.70% ก็ตาม โดย Nvidia และหุ้นเทคฯ ใหญ่ ได้รับแรงหนุนจากมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ยังคงแนะนำการลงทุนในธีม AI ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.67% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.01%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาลดลงกว่า -1.03% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของบรรดาธนาคารกลางหลัก ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ต่างปรับตัวสูงขึ้น รวมถึง ความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจยูโรโซน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP -2.3%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และความกังวลว่า ซาอุฯ อาจกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตได้
ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป รวมถึงรายงานดัชนี ISM PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.70% อีกครั้ง ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวไม่ได้เหนือความคาดหมายของเรา ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า
นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward (มอง Total Return และ Real Yield) มีความคุ้มค่า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างมีสถานะ Short บอนด์ระยะยาวกันมาก ทำให้ หากมีปัจจัยที่ทำให้มุมมอง Higher for Longer เปลี่ยนไป เรามองว่า การทยอยปิดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยาก
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 107 จุด ได้สำเร็จ (กรอบ 106.4-107.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต่ำกว่ากรอบแนวรับที่เราประเมินไว้ในสัปดาห์นี้ อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวลงของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับหลัก จะทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ซึ่งอาจสะท้อนภาวะการจ้างงานในสหรัฐฯ ได้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ประเมินว่า ยอดคำแหน่งงานเปิดรับอาจทรงตัวที่ระดับ 8.83 ล้านตำแหน่ง
ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า RBA อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.10% หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท มองว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาท กลับไม่ได้ชะลอลงตามที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า กดดันโดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง (ทะลุโซนแนวรับที่เราประเมินไว้) ซึ่งภาพดังกล่าวก็เกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น
ทำให้ในวันนี้ เงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าต่อได้ หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 36.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า จุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทที่เป็นไปได้ใหม่ หากอ้างอิงการประเมิน Valuation ของเงินบาทจากดัชนีเงินบาท REER จะอยู่ที่ประมาณ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ (ประเมินไว้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน)
อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ในช่วงระหว่างวัน เนื่องจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอลงบ้าง และมีโอกาสที่อาจจะเห็นการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หลังดัชนี SET ก็ปรับตัวลงมาใกล้โซนแนวรับสำคัญ ทั้งนี้ ในระยะสั้น เรามองว่า แรงขายบอนด์ระยะยาวของไทยก็อาจยังพอมีอยู่บ้าง จนกว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะพลิกกลับมาย่อตัวลง
ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย เพราะหากยอดตำแหน่งงานเปิดรับปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หรือ ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด หรือ แนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ในทางกลับกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด จะยิ่งหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงต่อได้ ส่งผลให้เงินบาทจะยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อไปในช่วงนี้
อย่างไรก็ตามยังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.