AWS เดินหน้าเปิด Region ใหม่ในไทย: ก้าวสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

          ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุ ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง

          1 ในนั้น คือ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท

          โพสต์ทูเดย์ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ปราสาท กัลยาณรามัน รองประธานฝ่ายบริการโครงสร้างพื้นฐานของ AWS ถึงการเตรียมเปิด Region ใหม่ในไทย เพื่อหนุนเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งเขาเล่าว่า AWS Region แห่งใหม่ในประเทศไทย มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งด้านการสร้างบุคลากรด้านคลาวด์ การเกิดเทคโนโลยีใหม่ AI รวมถึงการสนับสนุน SME และ สตาร์ทอัพ ให้เข้าถึงการใช้งาน

ลงทุนกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 15 ปี

          ปราสาท ย้ำว่า  AWS เตรียมเปิดตัว AWS Region แห่งใหม่ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของลูกค้าในประเทศ และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ดาต้า เซ็นเตอร์ของ AWS 

        AWS Region แห่งใหม่ในประเทศไทยจะประกอบด้วย Availability Zone 3 โซน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพสูง ความหน่วงต่ำ และความปลอดภัยระดับสูงสุด โดย AWS มีแผนลงทุนกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 15 ปี

AWS Region แห่งใหม่ในประเทศไทยจะเสริมโครงสร้างพื้นฐาน AWS ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน รวมถึง Amazon CloudFront edge 10 แห่ง AWS Outposts และ AWS Local Zones

          ปราสาท อธิบายเพิ่มเติมว่า การเลือกที่ตั้ง Region ของ AWS นั้นพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยเน้นที่การตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ยังคำนึงถึงความสามารถในการให้บริการที่มีความหน่วงต่ำ ความพร้อมของพลังงานหมุนเวียน และความมุ่งมั่นระยะยาวของรัฐบาลในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของคลาวด์และ AI

          AWS และ Telecom Advisory Services บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาระดับโลก ได้เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดที่วัดผลกระทบทางเศรษฐกิจของการประมวลผลบนระบบคลาวด์และการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าในปี 2566 การใช้งานคลาวด์โดยรวมมีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ AI ที่ขับเคลื่อนด้วยคลาวด์สร้าง GDP มากกว่า 98,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          นอกจากนี้ ผลการศึกษายังคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2567 ถึง 2573 GDP ทั่วโลกที่เกิดจากการใช้งานคลาวด์จะสูงกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ AI ที่ขับเคลื่อนด้วยคลาวด์จะสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการนำ AI เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) มาใช้อย่างแพร่หลายและการผลักดันให้มีการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

ประโยชน์ต่อธุรกิจไทยตั้งแต่ SME ถึงองค์กรขนาดใหญ่

          AWS Region แห่งใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจไทยทุกขนาด ตั้งแต่สตาร์ทอัพ ธุรกิจ SME ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล่าสุด เช่น Generative AI, แมชชีนเลิร์นนิง และ IoT ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังช่วยตอบโจทย์ความต้องการด้านการจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศ (Data Residency) และการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ของไทยได้อีกด้วย

บริการคลาวด์ของ AWS ช่วยธุรกิจทุกระดับตั้งแต่ SME ถึงองค์กรขนาดใหญ่  

        เขายกตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจไทยที่ใช้บริการ AWS ได้แก่ Botnoi Voice สตาร์ทอัพไทยที่สร้าง AI บอทแปลงข้อความเป็นเสียงพูดภาษาไทยที่มีความเป็นธรรมชาติสูง และภาษาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากกว่า 20 ภาษา โดยใช้บริการประมวลผลของ AWS ในการสร้างเสียงสังเคราะห์ที่เป็นธรรมชาติ

          อีกตัวอย่างคือ aCommerce บริษัทผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้สร้างโซลูชัน Ecommerce IQ (EIQ) ที่ขับเคลื่อนด้วย Generative AI บน AWS นอกจากนี้ยังใช้ Amazon Bedrock สำหรับแอปพลิเคชันแชทบอท และ Amazon Q ใน QuickSight เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ

ตั้งเป้าปั้นคนคลาวด์ครบแสนคนภายในปี 69

          AWS มุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้านคลาวด์ให้กับบุคลากรไทย โดยตั้งแต่ปี 2560 ได้ฝึกอบรมบุคลากรในประเทศไทยมากกว่า 50,000 คน และตั้งเป้าฝึกอบรมให้ครบ 100,000 คนภายในปี 2569 ผ่านโครงการต่างๆ เช่น AWS Academy และ AWS Skill Builder ซึ่งมีหลักสูตรฟรีกว่า 600 หลักสูตร รวมถึง 64 หลักสูตรที่แปลเป็นภาษาไทย

          นอกจากนี้ AWS ยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และบริษัทชั้นนำอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และเซ็นทรัล กรุ๊ป เพื่อช่วยลดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลในประเทศไทย

          AWS ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกระทรวงดีอีเพื่อเร่งการพัฒนาทักษะของบุคลากรภาครัฐกว่า 1,200 คน และเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาการใช้คลาวด์ของ AWS ควบคู่ไปกับศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ของภาครัฐ (GDCC) AWS ยังร่วมมือกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ตั้งแต่ปี 2563 โดย NT ได้ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐกว่า 20 แห่ง สร้างรากฐานดิจิทัลเพื่อมอบบริการแก่ประชาชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          นอกจากนี้ ในปี 2566 อว. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ AWS เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีคลาวด์ของกระทรวงและฝึกอบรมบุคลากรให้เป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล

ความยั่งยืนและประสิทธิภาพด้านพลังงาน

          AWS มุ่งมั่นที่จะช่วยให้ Amazon บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2583 โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก จากผลการศึกษาของ Accenture พบว่าโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกของ AWS มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้งานในองค์กรถึง 4.1 เท่า

นวัตกรรม AWS ช่วยประหยัดพลังงาน 

          AWS ได้พัฒนานวัตกรรมทางวิศวกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่ระบบจ่ายไฟฟ้าไปจนถึงวิธีระบายความร้อน เพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างประหยัดพลังงานที่สุด นอกจากนี้ยังได้สร้างชิปพิเศษขึ้นมาเอง เช่น AWS Trainium และ AWS Inferentia เพื่อให้แอปพลิเคชัน Generative AI ทำงานได้เร็วขึ้นและใช้พลังงานน้อยลง

          ในปี 2566 ไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในการดำเนินงานของ Amazon รวมถึงศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ มาจากพลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งเร็วกว่าแผนที่วางไว้ถึง 7 ปี AWS ยังตั้งเป้าว่าจะเป็น "water positive" หรือ "คืนน้ำให้มากกว่าที่ใช้" ภายในปี 2573

AWS ตั้งเป้าเป็น "water positive" หรือ "คืนน้ำให้มากกว่าที่ใช้" ภายในปี 73

แผนอนาคตกับการลงทุนในประเทศไทย

          AWS มองว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว กำลังผลักดันให้ประเทศก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในภูมิภาค โดย AWS Region แห่งใหม่จะช่วยสร้างชุมชนที่แข็งแกร่ง ซึ่งองค์กรธุรกิจ สตาร์ทอัพ ธุรกิจ SME และหน่วยงานภาครัฐของไทย สามารถร่วมมือ ทดลอง และเติบโตได้ ด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด เช่น Generative AI, แมชชีนเลิร์นนิง, IoT

          ปราสาท เน้นย้ำว่า AWS มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ในระยะยาว โดยมีเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่การทำธุรกิจครั้งเดียว ด้วยเหตุนี้ AWS จึงมีแผนที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนลูกค้าและการดำเนินงานของพวกเขา

          อีก 5-10 ปีข้างหน้า AWS มีแผนการดำเนินงานในประเทศไทยที่ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการขยายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบริการใหม่ๆ การสนับสนุนสตาร์ทอัพและ SME การพัฒนาทักษะดิจิทัล การส่งเสริมนวัตกรรม และการสร้างความยั่งยืน นอกจากนี้ AWS ยังมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับภาครัฐและพัฒนาโซลูชันเฉพาะทางสำหรับอุตสาหกรรมสำคัญของไทย

เรามีความตื่นเต้นกับโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือกับลูกค้า พาร์ทเนอร์ และหน่วยงานภาครัฐ เราจะสามารถสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลกได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.