ผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือภาษีทุกมิติ หลังไทยเป็นสมาชิก OECD
นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2568 ผู้ประกอบการไทยจะเผชิญความท้าทายด้านกฎหมายและภาษีมากกว่าที่เคย จากการที่ประเทศไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยได้มีการยื่นหนังสือครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้ได้รับการยอมรับจาก OECD และกลุ่มประเทศสมาชิก ประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภาษีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในปัจจุบัน กรมสรรพากรไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายภาษีให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านภาษีโลกที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
“การเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเต็มรูปแบบจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในหลายมิติ เช่น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ การได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก OECD นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก แต่ก่อนที่จะได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกนั้น ประเทศไทยจะต้องได้รับการประเมินความพร้อมตามหลักเกณฑ์ที่ OECD กำหนด ซึ่งไทยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวให้ครบถ้วน ทำให้เวลานี้หน่วยงานภาครัฐต่างๆกำลังศึกษาและดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ OECD ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายและการจัดเก็บภาษีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลก็เป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย”
หลังจากที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมอนุสัญญาพหุภาคี (Multilateral Instrument) กรมสรรพากรกำลังดำเนินการกำหนดรายละเอียดแนวปฏิบัติ การติดตามและรายงาน รวมถึงแนวทางการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) นโยบายการกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing) และแนวทางการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำกับกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (Pillar Two) เป็นต้น
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรแล้ว กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตยังได้ออกนโยบายที่เพิ่มความชัดเจนในการจัดเก็บและตรวจสอบภาษี เนื่องจากเดิมกรมศุลกากรอาจเน้นการตรวจสอบประเด็นค่าสิทธิ แต่จากนี้ไปเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมระหว่างบริษัทที่เกี่ยวข้องกันอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ขยายขอบเขตจากการตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไปสู่การตรวจสอบที่มีความละเอียดมากขึ้นในขั้นตอนการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
“นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจที่จะต้องติดตามอัปเดตข้อมูลกฎหมายภาษี กฎระเบียบ การตีความ และข้อผิดพลาดทั่วไปที่อาจนำไปสู่การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อนำมาใช้ในการปรับกลยุทธ์ด้านภาษีของตนให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับได้อย่างทันท่วงที”
จับตามาตรการ Pillar Two เริ่มปี68
ปัจจุบันธุรกิจไทยกำลังติดตามแนวปฏิบัติตามมาตรการ Pillar Two จากหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างการผลักดันออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำจากกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์ของ OECD กำหนดว่ากลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปีจะต้องเสียภาษีอย่างน้อย 15% (global minimum tax) ในแต่ละประเทศที่บริษัทเหล่านี้เข้าไปลงทุน คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2568 ซึ่งการนำกฎหมายภาษีฉบับนี้มาใช้น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงสร้างภาษีของนิติบุคคล
“ผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นต้องติดตามแนวปฏิบัติด้านกฎหมายและภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการ Pillar Two จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะประเด็นภาษีดังกล่าวอาจทำให้ต้นทุนภาษีและต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการวางแผนการเสียภาษีที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งภาระการปฏิบัติตามกฎหมาย และปรับแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและภูมิทัศน์ทางภาษีในประเทศ ตลอดจนปรับกระบวนการและกลไกการรายงานใหม่ๆซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนกฎหมายและภาษีให้สอดคล้องและเหมาะสมกับมาตรการนี้”
วางกลยุทธ์ด้านกฎหมาย-ภาษี
นอกจากความท้าทายด้านกฎหมายและภาษีจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่กระกวนการการเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้ว นาย นิพันธ์ กล่าวว่า หน่วยงานด้านภาษีของไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลภาษี รวมถึงการตรวจสอบภาษีเชิงลึก ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจต่าง ๆ จึงควรติดตามอัปเดตกฎหมายภาษีอยู่เสมอควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎระเบียบภาษี และปรับปรุงการดำเนินงานด้านภาษีให้ทันสมัยซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
นอกจากนี้ ธุรกิจควรพัฒนากลยุทธ์ในการรับมือกับการตรวจสอบภาษีที่เข้มข้นมากขึ้น จากการที่กรมสรรพากรได้ปรับโครงสร้างการจัดเก็บ รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการตรวจสอบภาษี เช่น ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และ AI จึงอาจทำให้ผู้เสียภาษีมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกตรวจสอบมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงควรวางแผนด้านภาษีครอบคลุมทั้งการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์ การจัดการด้านเอกสาร การจัดการการคืนภาษี และการส่งเสริมแนวทางเชิงรุกในการรับมือกับความท้าทายด้านกฎระเบียบ
“การที่ธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ทางภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องอาศัยการวางแผนกลยุทธ์ทางภาษีที่มีประสิทธิ์ภาพ ความสามารถในการปรับตัว และความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อีกทั้งการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการพัฒนากลยุทธ์ทางภาษีอย่างครอบคลุม เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบหลากหลายมิติ และสามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายด้านโครง สร้างอยู่ในปัจจุบัน”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.