SCBX ตั้งเป้าพอร์ตกรีนในปี 2050 อัดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 1.5 แสนล้านบาท!

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ Financial for Sustainability งาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ  ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 ณ สยามพารากอน ว่า

 

 

SCBX เป็นกลุ่มบริษัททางการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ให้คำสัญญาที่จะทำให้เกิด Net Zero ของ SBTI  ( The Science Based Targets initiative) ซึ่งภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ของโลกเกือบ 9,000 แห่งจะทำตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่สามารถวัดได้ ตรวจสอบได้และสอดคล้องกับการที่จะช่วยทําให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส  ดังนั้นภายใต้คำสัญญานี้จึงเกิดการประกาศขึ้น เราทำ Net Zero สโคป 1,2 จะต้องทำให้ได้ในปี 2030 แต่ที่สำคัญคือสโคป 3  เพราะต้องทำให้พอร์ตสินเชื่อเป็น Net Zero ภายในปี 2050  จากตัวเลขการปล่อยคาร์บอนของบริษัทปีละ 70,000 ตัน แต่พอร์ทสินเชื่อของไทยพาณิชย์ปีที่แล้วสูงถึง 6.7 ล้านตัน หมายความว่าการปล่อยคาร์บอนของ SCBX จริงๆ นั้นมีเพียงแค่ 1%  เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการพาลูกค้าให้เดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ให้ได้ จึงเป็นความท้าทายและโอกาสสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตทางด้านพลังงาน ในการปล่อยคาร์บอน 6.7 ล้านตัน พอร์ตพลังงานไฟฟ้ามีส่วนในการปล่อยแล้วกว่าครึ่งหนึ่งราว 3.4 ล้านตัน เพราะฉะนั้นหากอยากจะทำให้พอร์ตกรีนขึ้น ทางธนาคารก็ต้องเลือกปล่อยสินเชื่อไปยังบริษัทที่ผลิต 'พลังงานหมุนเวียน' มากขึ้น และเลือกปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิลน้อยลง

 

" สิ่งที่เราทำต่อเนื่องมาก 10 กว่าปีคือ เราปล่อยสินเชื่อพลังงานหมุนเวียนเกือบ 200,000 ล้านบาท โดยมีพอร์ตเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนราว 61% "

 

นอกจากนี้ ทางธนาคารยังสามารถกำหนดนโยบายที่จะไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่โรงงานถ่านหิน แต่ถ้าลูกค้าโรงงานถ่านหินเป็นลูกค้าปัจจุบัน ก็จะต้องเกิดการสนับสนุนให้ลูกค้าปรับตัวไปสู่ Green Energy ด้วย

 

ดร.ยรรยง กล่าวว่าธนาคาร ได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในปี 2023-2025 ไปแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท และจนถึงสิ้นปี 2024 คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อไปแล้วราว 130,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เพราะลูกค้ารายใหญ่มีการตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นเพราะลูกค้ารายใหญ่มีการตกลงกับทางธนาคาร หากลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายในเรื่อง ESG จะมีเรื่องการลดดอกเบี้ยให้ ในลักษณะของอินเซนทีฟ 

ส่วนในบริษัทระดับ SME หรือลูกค้ารายย่อย จะต้องตอบโจทย์ไม่เฉพาะแค่เรื่องขาดเงินทุน แต่ยังต้องสนับสนุนทั้งเรื่องเทคโนโลยี และความรู้ด้วย.

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.