'รมว.นฤมล' พบ USABC ผลักดันเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ไทย สู่นานาชาติ

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หารือความร่วมมือภาคเกษตร ร่วมกับนายไบรอัน แมคฟีเตอร์ส (Mr. Brian McFeeters) รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาคของ USABC (Senior Vice President and Regional Managing Director, USABC) และคณะ พร้อมด้วย นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการหารือในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนนโยบายที่สำคัญร่วมกันในการผลักดันความร่วมมือด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตร ซึ่งฝ่ายไทยมีนโยบายด้านการเกษตรมุ่งเน้นยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย  

ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้ เช่น เกษตรแม่นยำหรือเกษตรอัจฉริยะ มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง ดึงจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งยกระดับรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร และมีการนำหลัก BCG มาประยุกต์ใช้ รวมถึงมีการเสนอความเห็นต่อฝ่าย USABC เกี่ยวกับนโยบายการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ และไทยยินดีที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ฝ่าย USABC ได้นำเสนอการดำเนินงานด้านการเกษตร ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การติดตามความคืบหน้าการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกปรุงสุกจากไทยไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งฝ่ายไทยให้ความสำคัญอย่างมาก  และการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่โดยการใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร อีกด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 2 ของไทย โดยในปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 107,269 ล้านบาท เป็น 136,261 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28,992 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.03 ซึ่งมีสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ 1) อาหารสุนัขหรือแมวสำหรับขายปลีก 2) ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด อาทิ ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ 3) ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต ปรุงแต่ง อาทิ ปลาทูนากระป๋อง 4) ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค และ 5) อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.