ธปท. ลั่นมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ชัดเจนก่อนสิ้นปี 67
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน พักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี คาดจะเห็นความชัดเจนก่อนสิ้นปี 2567 โดยปัจจุบันมาตรนี้อยู่ระหว่างทยอยหาข้อสรุปสุดท้ายที่ชัดเจน และมีบางส่วนที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบก่อนด้วย
“มาตรการนี้เป็นการทำร่วมกันระหว่าง ธปท. กระทรวงการคลัง และธนาคารพาณิชย์ โดยเน้นเจาะไปยังกลุ่มที่มีปัญหาจริงๆ ส่วนการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ลงครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.46% นั้นเป็นแหล่งเงินส่วนหนึ่งที่กำลังคุยกันอยู่ แต่การลดเงินนำส่ง FIDF ครั้งนี้ จะแตกต่างจากที่เคยลดในปี 2563 ตอนนั้นแบงก์ไม่แข็งแรง แต่ตอนนี้แข็งแรง ดังนั้นจะต้องมีส่วนหนึ่ง Contribute มาจากแบงก์ด้วย” นางสาวสุวรรณี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าถ้ามีการลดเงินนำส่ง FIDF ลงครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.46% จะกระทบต่อระยะเวลาการชำระหนี้ยาวขึ้น เช่น ถ้าลด 1 ปี ทำให้ระยะเวลาการชำระหนี้ยาวขึ้นครึ่งปี
สำหรับภาพรวมธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2567 ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 3/2567 หดตัวที่ 2.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน
การหดตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2567 หลักๆ จากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการจ่ายคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ แม้การให้สินเชื่อใหม่ยังมีต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สินเชื่อในภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขันยังคงหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
“สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3/2567 หดตัวที่ 2.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/2567 เห็นเดือน ต.ค.ดีขึ้นเล็กน้อย คาดว่าสิ้นไตรมาส 4/2567 น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” นางสาวสุวรรณี กล่าว
ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ในไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 553.4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.97% (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสินเชื่อที่ปรับลดลง) สูงสุดนับไตรมาส 4/2566 จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.86% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ โดยธุรกิจยังสามารถชำระคืนหนี้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา และสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ด้านผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3/2567 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับลดลง โดยหลักจากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล แม้ค่าใช้จ่ายสำรองปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ NPL ยังมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff)
โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2/2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลงสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อและตราสารหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคการผลิต
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.