ถอดบทเรียน "หมอบุญ วนาสิน" จากคุณหมอ สู่ ผู้ต้องหาหมื่นล้าน

     จากคุณหมอมือหนึ่ง สู่ ผู้ต้องหาหมื่นล้าน!

     ย้อนกลับไป "หมอบุญ หรือ นายแพทย์บุญ วนาสิน" สำเร็จการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณพิต มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เป็นอินเทิร์นที่ School of Medicine ของ Virginia Commonweath University รัฐ Virginia 1 ปี ต่อด้วยแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาล Sinai Hospital รัฐ Maryland 2 ปี

     พร้อมศึกษาต่อด้านระบบทางเดินอาหาร มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ 3 ปี เป็น Fellow อีก 2 ปี จบการศึกษาภายใน 5 ปี เริ่มงานในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ และกลับมาทำงานที่ไทยในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล

     ในปีพ.ศ.2519 ทาง "หมอบุญ" ร่วมกับกลุ่มแพทย์ก่อตั้ง "โรงพยาบาลธนบุรี" จุดเริ่มต้นของอาณาจักร "บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG" ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในวันที่ 7 ธ.ค.2560 เสนอขายที่ราคา 38 บาท พาร์ 1 บาท โดยมีกลุ่ม "วนาสิน" ถือหุ้นใหญ่ และ หมอบุญดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในขณะนั้น 

     ต่อมาในช่วงการระบาดของโควิด-19 "หมอบุญ"ประกาศชัดว่าสามารถนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดบางชนิดมาช่วยคนไทย แต่เรื่องกลับไม่คืบหน้า จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

     จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2565 "หมอบุญ"ได้ทำสัญญากู้ยืมเพื่อให้ตัวแทนนำไปติดต่อกับผู้เสียหาย ซึ่งมีจำนวนหลายราย ผู้เสียหายหลงเชื่อตามคำชี้ชวนเนื่องจากเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวได้ดอกเบี้ยสูงอัตรา 8.5% และจะได้หุ้น THG เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินที่ปล่อยกู้ด้วย และโครงการต่างๆที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไรมาจ่ายผลตอบแทน เช่น โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง, โครงการคอนโดที่พระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา, โรงงานถุงมือยาง, อาคารสหไทย, โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง การลงทุนดังกล่าวมีหุ้น THG ค้ำประกันเงินกู้ยืม

    แต่เมื่อความจริงเริ่มกระจ่าง "หมอบุญ" ปกปิดข้อเท็จจริง มีลักษณะเป็นการฉ้อโกง ผู้เสียหายรวมตัวแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดคดีกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวมทั้งเข้าข่ายฐานกระทำความผิดแชร์ลูกโซ่ ในเบื้องต้นคาดว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับหมอบุญกับพวก สร้างมูลค่าความเสียหายอาจมากกว่า 10,000 ล้านบาท

     แม้ นางจารุวรรณ วนาสิน ภรรยาหมอบุญ และนางสาวนลิน วนาสิน บุตรสาว เดินทางเข้ารายงานตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ พร้อมให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาร่วมฉ้อโกง โดยชี้แจงว่าลายมือชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกปลอมแปลง ก่อนถูกพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ในความผิดฐาน "ฉ้อโกง - สมคบกันฟอกเงิน และ พ.ร.บ.เช็ค" ในช่วงเช้าของวันที่ 25 พ.ย.2567 พร้อมคัดค้านการประกันตัว

     และในเช้าวันเดียวกันนั้นทาง "THG" ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ภรรยาและบุตรสาวหมอบุญ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯจนกว่าคดีจะถึงจุดสิ้นสุด ขณะที่ โครงการ“จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้”เป็นการลงทุนของ "บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด" ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ THG โดยลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน ส่วน 5 โครงการที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการแพทย์นั้นเป็นการชักชวนนักลงทุนของนายแพทย์บุญแต่เพียงผู้เดียว THG ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

     ทันทีที่มีการชี้แจงดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของ "THG" ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 8% โดยราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุด 19.20 บาท ล่าสุด ณ เวลา 16.17 น. อยู่ที่ 16.70 บาท ด้วยมูลค่าการการซื้อขาย 322.24 ล้านบาท

     ถามว่า...ตลาดทุนเร่งตรวจสอบอย่างไร ? และข่าวนี้กระทบเชื่อมั่นหรือไม่ ?

     แหล่งข่าวระดับสูงในตลาดทุนไทย กล่าวกับ "โพสต์ทูเดย์" ถึงกรณีคดีฉ้อโกงของนายแพทย์บุญ วนาสินว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าข่าวดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดส่วนบุคคลที่เกิดกับ "หมอบุญ กับพวก" ซึ่งยังไม่พบการทำผิดที่เชื่อมโยงกับ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG แม้ "หมอบุญ" จะเป็นผู้ถือหุ้น

     "โพสต์ทูเดย์" รวบรวมข้อมูลผู้ถือหุ้นของ THG ณ วันที่ 19 มี.ค. 2567 ปรากฎ 3 รายชื่อ กลุ่มวนาสิน ถือหุ้นดังนี้

นางจารุวรรณ วนาสิน ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จำนวน 120,540,789 หุ้น สัดส่วน 14.22%
นางณวรา วนาสิน ถือหุ้นใหญ่อันดับ 6 จำนวน 25,663,863 หุ้น สัดส่วน 3.03%
นายบุญ วนาสิน ถือหุ้นใหญ่อันดับ 17 จำนวน 5,801,848 หุ้น สัดส่วน 0.68%

     ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า "หมอบุญ" นำหุ้น THG ไปใช้กู้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินที่ปล่อยกู้ อ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ผลกำไรมาจ่ายผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยที่สูงนั้น คงต้องตรวจสอบว่าหมอบุญได้ทำธุรกรรมจำนำหุ้นและจดทะเบียนจำนำหุ้น THG จริงหรือไม่อย่างไร

     ทั้งนี้ ตามสิทธิของบุคคลที่มีหุ้นในตลาด สามารถจำนำหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ตามกฎหมาย แต้ต้องผ่านการ "จดทะเบียนจำนำ และ แจ้งนายทะเบียน" นั่นก็คือ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) หรือ TSD  

     อย่างไรก็ดี กระแสข่าวดังกล่าวเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่สิ่งหนึ่งที่อยากย้ำให้แก่นักลงทุน ก็คือ ต้องระมัดระวังก่อนที่จะลงทุนอะไร อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะความน่าเชื่อถือแต่จงเชื่อข้อมูลความจริง และจงคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

     คำถามต่อมา คือ อนาคต "THG" เป็นอย่างไร ?

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) มองว่า THG ยังมีความไม่แน่นอนท่ามกลางข่าวคดีที่เกี่ยวข้องกับนายแพทย์บุญ วนาสิน ทำให้ยังมีความไม่แน่นอนที่ส่งผลมาถึง THG โดยยังต้องหลีกเลี่ยงการลงทุน THG อีกทั้งผลการดำเนินงานที่ยังไม่ฟื้นกลับมา ทำให้ทิศทางผลการดำเนินงานของ THG ยังมีโอกาสอ่อนแอต่อเนื่อง

     บล.ทิสโก้ แนะนำขาย "THG" จากกำไรติดลบ เนื่องจากการตั้งสำรองจำนวนมาก สำหรับลูกหนี้ UCEP ที่เหลือ และยังมีข้อสังเกตว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจยังไม่เป็นรูปธรรม ส่งผลให้รายได้ของหลายหน่วยธุรกิจอ่อนแอ และยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่ารายได้จะฟื้นตัว เนื่องจากการปรับโครงสร้างธุรกิจยังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบกับยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับกรรมการของบริษัทที่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีความ

 

ด่วน! THG ชี้แจง "ภรรยา-ลูก"หมอบุญยังคงสถานะกรรมการ ปัดเอี่ยวธุรกิจการแพทย์

หมายจับ! หมอบุญพร้อมพวก ฉ้อโกง-ฟอกเงิน ปลอมลายเซ็นกู้ 8 พันล้าน

ภรรยาและลูก "หมอบุญ" เข้าพบพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.