ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ทรัมป์ชนะเลือกตั้งสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานระบุว่า หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 และพรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาบนและสภาล่าง ส่งผลให้นโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้มีแนวโน้มที่จะสามารถผลักดันให้ผ่านสภาฯ ได้ไม่ยากนัก ซึ่งหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 นโยบายเร่งด่วนที่คาดว่าจะเห็นใน 100 วันแรก ได้แก่ มาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้า มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและครัวเรือนรวมถึงการต่ออายุมาตรการลดภาษีที่ประกาศใช้ในปี 2560 มาตรการกีดกันแรงงานอพยพ และมาตรการสนับสนุนการผลิตพลังงานฟอสซิลในประเทศ เป็นต้น

 

โดยหลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ออกมา ค่าเงินดอลลาร์ฯ ตอบรับแข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีเพิ่มขึ้น คาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ลดลง และความเสี่ยงทางการคลังที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับปรับสูงขึ้นเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะสูงขึ้น จากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันแรงงานอพยพ ตลอดจนการขาดดุลการคลังที่สูงขึ้น ในขณะที่มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและมาตรการสนับสนุนการผลิตในประเทศ รวมถึงแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจจะเพิ่มมาตรการกีดกันการค้ากับประเทศที่เป็นฐานการผลิตของจีน อาจช่วยสนับสนุนการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ซึ่งกว่าจะเห็นผลคงอาจจะต้องใช้เวลา ในขณะที่ในระยะสั้น อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงจาก Stagflation สูงขึ้น ซึ่งยังขึ้นอยู่กับมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่จะออกมาบรรเทาผลกระทบเงินเฟ้อจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น

ซึ่งนโยบายกีดกันทางการค้าในภาพรวมและผลจากการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนโลก ยังเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ในระยะสั้นๆ ไทยอาจได้รับประโยชน์จากจากการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯและการนำเข้าสินค้าจากไทยบางรายการเพื่อทดแทนสินค้าจีน ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ ถุงมือยาง น้ำผลไม้ อุปกรณ์โทรทัศน์ PCA และของเล่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไปข้างหน้า สินค้าส่งออกของไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกมาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯสูงเป็นอันดับที่ 12 (ปี 2566) ในบรรดาคู่ค้าทั้งหมด ซึ่งคงต้องติดตามและผลสุดท้ายน่าจะต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างทางการไทยกับสหรัฐฯด้วย นอกจากนี้ การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอาจได้รับผลกระทบจากแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนที่มีมากขึ้น     

 

ไทยอาจได้อานิสงส์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิต แต่ผลบวกคาดว่าจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ดอกผลของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน (FDI) ไปยังประเทศต่างๆ คงจะไม่เกิดขึ้นในทันที และการพิจารณาเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการ ยังขึ้นกับอีกหลายเงื่อนไข ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องต้นทุนและโอกาสในการสร้างรายได้ระยะกลางของแต่ละสินค้าในแต่ละประเทศแล้ว คงอยู่ที่ว่าประเทศนั้นๆ จะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีจากสหรัฐฯ เท่าใด และการถูกตรวจสอบว่าเข้าข่ายเป็นบริษัทจีนหรือเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของจีนมากน้อยเพียงใดด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.