ดิไอคอนกรุ๊ป ชวนลงทุน หวั่นเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ สภาผู้บริโภค เสนอ สคบ. ตรวจสอบ
จากกรณีพบผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมากจากการเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ในเครือข่ายของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป (Thai Icon Group) จากการเห็นข้อความโฆษณาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงการอบรมสอนทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการขายของออนไลน์และการสอนซื้อโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ ในราคาตั้งแต่ 59 - 99 บาท และหลังจากนั้นมีการโน้มน้าวหรือชักชวนลงทุนในภายหลังนั้น
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ ได้แก่
1. การพิจารณาว่าคอร์สอบรมขายของออนไลน์ที่มีการโฆษณาว่าผู้บริโภคจะได้อบรมอะไรบ้างนั้นมีการจัดอบรมที่เป็นไปตามที่โฆษณาหรือตามสัญญา ซึ่งหากไม่เป็นไปตามโฆษณา ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ขอให้ผู้ประกอบการชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
2. การที่มีการใช้คอร์สออนไลน์ราคาถูกเป็นเครื่องมือดึงดูดลูกค้า และเมื่อผู้บริโภคสมัครเรียนและถูกชักจูงให้ลงทุนในธุรกิจขายตรงแทน ซึ่งสุดท้ายหากไม่มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง หรือมีการบังคับให้จ่ายเงินเพิ่มเติม มีสิทธิในการยกเลิกสัญญาและเรียกคืนเงินได้ รวมทั้งสามารถคืนสินค้าและขอเงินคืนตามกฎหมาย
ทั้งนี้กรณีการเข้าไปลงทุนในธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ในเครือข่ายของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป เกิดความเสียหายกับผู้ที่เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่ระบุ และหากเห็นว่ามีการชักชวนให้ลงทุนและให้หาสมาชิก และมีรายได้เกิดจากการหาสมาชิก การเข้าร่วมลงทุนมีลักษณะเป็น “แม่ข่าย - ลูกข่าย” มากกว่าการจำหน่ายสินค้าอาจเข้าข่ายธุรกิจเครือข่ายในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อแจ้งความดำเนินคดีได้
นอกจากนั้นในส่วนของ “ดารา - อินฟลูเอนเซอร์” ที่เข้าไปเป็นพรีเซนเตอร์ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนหลงเชื่อและตัดสินใจร่วมลงทุน จึงควรมีการพิจารณาและตรวจสอบให้ดี ก่อนมีการรับงานหรือรับโฆษณา เพราะฉะนั้น อาจมีความผิดในเรื่องการโฆษณาเกินความเป็นจริงและเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 เรื่องนำเข้าข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลอันเป็นเท็จ
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคระบุรับรองสิทธิผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ถูกต้องครบถ้วน และได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ดังนั้น หากมีการใช้ถ้อยคำหรือคำโฆษณาชวนเชื่อ และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้น ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรและเรียกคืนเงินได้ หรือรู้สึกว่าถูกคุกคามสามารถแจ้งยกเลิกการทำสัญญา และสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาผู้บริโภคเพื่อให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบได้
เบื้องต้น สภาผู้บริโภคได้มีหนังสือถึง สคบ. เพื่อให้ตรวจสอบการประกอบธุรกิจขายตรงและการโฆษณาของบริษัทดังกล่าวซึ่งอาจมีการเข้าข่ายละเมิดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
หากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ปรึกษา - ร้องเรียนได้กับสายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 หรือเว็บไซต์สภาผู้บริโภค tcc.or.th ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนและสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ นอกจากนี้สามารถร้องเรียนไปที่หน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สายด่วน 1166 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ให้ผู้เสียหายจากกรณีหลอกขายทองไม่ตรงปก และธุรกิจขายตรง สามารถแจ้งเหตุและแจ้งเบาะแสให้ข้อมูลกับตำรวจ เพื่อดำเนินคดีต่อไป
ทั้งนี้ การตรวจสอบความถูกต้องการจดทะเบียนของธุรกิจเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่าบริษัทที่ชักชวนให้เข้าร่วมธุรกิจนั้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนธุรกิจแบบตรง ซึ่งก็คือการขายของออนไลน์โดยทั่วไป มีตัวกลางคือ ‘สื่อ’ ในการซื้อขายสินค้า หรือการจดทะเบียนธุรกิจขายตรง ซึ่งก็คือ การขายสินค้าส่งตรงถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านตัวแทน
อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีการแอบอ้าง โฆษณาเกินจริง หรือประกอบธุรกิจไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องขอให้หน่วยงานกำกับดูลตรวจสอบได้ นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสังเกตลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ที่อาจแฝงตัวมาในรูปแบบธุรกิจขายตรง ดังนี้
1. หากโครงสร้างธุรกิจเน้นการรับสมัครคนใหม่เข้าร่วมมากกว่าการขายสินค้าหรือบริการจริง อาจเข้าขายเป็นโมเดลแชร์ลูกโซ่ ซึ่งรายได้หลักมาจากการชักชวนสมาชิกใหม่และเก็บเงินค่าสมัคร แทนที่จะเกิดจากการขายสินค้า
2. การขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงความจริง หากสินค้าหรือบริการที่เสนอขายไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่โฆษณาไว้ หรือไม่มีสินค้าจริงในการจำหน่าย แต่มีการหลอกลวงเพื่อเก็บเงินจากผู้ร่วมธุรกิจ
3. การบังคับซื้อสินค้าหรือการลงทุนจำนวนมาก หากบริษัทบังคับให้ผู้สมัครเข้าร่วมต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อสินค้าเกินความจำเป็น หรือกักตุนสินค้าโดยไม่สามารถขายออกได้จริง
4. การใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง หากบริษัทนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจหรือรายได้ที่เกินจริง โฆษณาผลตอบแทนที่สูงเกินจริงโดยไม่สามารถทำได้ตามสัญญา
5. การไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
6. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค หากธุรกิจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค ไม่สามารถคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้าตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.