ส่อง 3 แคนดิเดตประธานแบงก์ชาติ “โต้ง” เต็ง “กุลิศ-สุรพล” คู่เทียบ
การคัดเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คนใหม่ เป็นประเด็นที่น่าจับตาเป็นอย่างมากในขณะนี้ โดยมีเสียงหนาหูว่าจะมีการส่งคนของพรรคการเมืองอย่าง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” มานั่งในตำแหน่งนี้ หลังจากที่ “ปรเมธี วิมลศิริ” หมดวาระลงเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา
แต่ระเบียบว่าด้วยการเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ได้กำหนดให้ 2 หน่วยงาน ได้แก่ แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง เป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมในตำแหน่งดังกล่าว โดย แบงก์ชาติ สามารถเสนอชื่อได้ 2 เท่า และกระทรวงการคลัง เสนอชื่อได้ 1 เท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้ง
ดังนั้นในครั้งนี้ ทางกระทรวงการคลัง เสนอชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ขณะที่ทางแบงก์ชาติ เสนอชื่อ “กุลิศ สมบัติศิริ” และ “สุรพล นิติไกรพจน์” ท้าชิงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประวัติ 3 ผู้ท้าชิงประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
- “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” หรือ โต้ง
เกิด 3 ส.ค.2501 ปัจจุบันอายุ 66 ปี
จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนอัสสัมชัญ, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ระดับปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ระดับปริญญาโท จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“กิตติรัตน์” เคยดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.คลัง (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร), ที่ปรึกษาของนายกฯ (เศรษฐา ทวีสิน), อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร, ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), กรรมการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
- “กุลิศ สมบัติศิริ”
เกิดวันที่ 5 เม.ย.2506 ปัจจุบันอายุ 61 ปี
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ระดับปริญญาโท จาก Master of Public Administration San Diego State University, Master of Business Administration University Southern California, หลักสูตร นบส. รุ่นที่ 40
“กุลิศ” เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน, อธิบดีกรมศุลกากร, รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.), ที่ปรึกษา รมช.คมนาคม (สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม)
- “สุรพล นิติไกรพจน์”
เกิดเมื่อ 19 ก.ย.2503 ปัจจุบันอายุ 64 ปี
จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเลยพิทยาคม, ระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 35 จากสำนักศึกษาอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา Diplôme d’études approfondies de droit public จากมหาวิทยาลัย Strasbourg III ประเทศฝรั่งเศส Doctorat de l’Université Robert Schuman de Strasbourg (mention très honorable) มหาวิทยาลัย Robert Schuman ฝรั่งเศส
ได้รับประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตร สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์นานาชาติ “การกระจายอำนาจ และ การปกครองท้องถิ่น” (IIAP.) กรุงปารีส, ฝรั่งเศส ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย Soka ประเทศญี่ปุ่น และประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ.2553
“สุรพล” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ข้าราชการบำนาญ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานศาลปกครองและที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), อุปนายกสภา สถาบันวิทยสิริเมธี, กรรมการ สถาบันคลังสมองของชาติ
นายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์การมหาชน (กพม.), ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนกำเนิดวิทย์, ประธานกรรมการบริษัท บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF, ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG, ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG
ใครจะเป็นผู้ที่ได้ครอบครองตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คงต้องวัดใจคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแบงก์ชาติ ซึ่งประกอบด้วย 1.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง (ประธาน) 2.นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ 3.นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
4.นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 5.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 6.นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ 7.นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ ส่านักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
แต่ทว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ได้ง่าย และราบรื่นนัก เพราะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายในการที่จะส่งคนของพรรคการเมืองเข้ามาเพื่อแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ ไม่ว่าจะเป็น อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ อย่าง “ธาริสา วัฒนเกส” ที่ได้ออกเตือนคณะกรรมการคัดเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ต้องใช้จิตสำนึกเลือก เพื่อไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจ ห่วงการเมืองแทรกแซงจะทำให้ต่างชาติไม่เชื่อถือประเทศไทย
นอกจากนี้ คณะศิษยานุศิษย์ที่นัอมนำธรรมองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ส่งหนังสือถึง นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ขอคัดค้านบุคคลซึ่งเกี่ยวโยงการเมืองเข้ามาแทรกแซงแบงก์ชาติ
ส่งผลให้ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 “วิเรขา สันตะพันธุ์” เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ฝ่ายเลขานุการฯ มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม
ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอขยายระยะเวลาออกไป เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว
แม้กระนั้น หากเสียงคัดค้านจากหลายๆ ฝ่าย ไม่เป็นผล “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนนี้จะประเดิมการแทรกแซงด้วยการสั่งลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ โดยในปีนี้เหลือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 16 ต.ค.2567 และวันที่ 18 ธ.ค.2567 มาลุ้นกัน!!
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.