นักวิชาการ กระทุ้งรัฐ-ธปท. ลดดอกเบี้ยกู้วิกฤตแก้บาทแข็ง หวั่น GDP วูบ 0.1%
จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในรอบ 30 เดือน ก่อนที่เปิดตลาดเช้าวันนี้(26 ส.ค.67) จะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ 32.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ สาเหตุใหญ่เกิดจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาอยู่ที่กรอบ 4.75-5.00% ทำให้มีเม็ดเงินที่จะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ เพื่อเก็งกำไรส่วนต่างค่าเงิน ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกเป็นรูปแบบเงินบาทปรับตัวลดลง
แม้ว่า ตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด เดือนส.ค.2567 จะมีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 939,521 ล้านบาท ขยายตัว 7% สูงกว่าตลาดคาด แต่หลายฝ่ายมองว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่า ผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยหลังจากนี้อย่างเป็นนัยยะสำคัญ
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวกับสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า สถานการณ์ของค่าเงินบาทในขณะนี้ ถือเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะภาคส่งออก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวนับเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย หากรัฐบาล และธปท. ไม่เร่งหารือร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไข มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าไปแตะที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากนี้
“หากภายในระยะ1 เดือนไม่ทำอะไรสักอย่าง คือ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% และ ธปท.ไม่เข้าไปแทรกแซง หรือ ดูแลค่าเงินบาท ก็มีโอกาสเห็นเงินบาทแข็งค่าไปแตะที่ 31.80-31.70 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ จะทำให้ส่งออกตายหมดแน่นอน โดยมองว่า ค่าบาทที่เหมาะควรอยู่ที่ 33-34 ดอลล่าร์สหรัฐ” รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ยังคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% เท่ากับว่าดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะลดลงไป 1% และหากกนง.ยังคงยืนกรานไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในรอบถัดไป( 18 ธ.ค.67) เชื่อว่าจะได้เห็นเงินบาทแข็งค่าไปแตะที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแน่นอน จะยิ่งซ้ำเติมภาคส่งออก และภาคการท่องเที่ยวให้ล้มตาย และจะกระทบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้ลดลง
“ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากระดับ 33 บาทต่อดอลล่าร์ มาอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ จะทําให้มูลค่าการส่งออกของไทยภายในปีนี้หายไป 200,000 - 300,000 ล้านบาท กระทบจีดีพีลดลงไป 0.01% โดยคาดว่าทั้งปีจีดีปีนี้จะโตอยู่ที่ 2% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยจะพลาดเป้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เพราะจีนปรับลดดอกเบี้ยลง 0.2-0.3% ทำให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าค่าเงินหยวนทันที” รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าว
สำหรับกลุ่มสินเกษตร และกลุ่มอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก ที่ไม่พึ่งพิงวัตถุดิบจากต่างประเทศจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มSMEs เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ส่วนกลุ่มอุตสาหรรมที่พึ่งพิงการนําเข้าจากต่างประเทศมาก ก็จะได้อานิสงส์จากราคาที่ถูกลง เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า
ดังนั้นถึงเวลาที่รัฐบาลและธปท.ควรเร่งหารือร่วมกันเพื่อหาทางดูแลค่าเงินบาท หากปล่อยนานไปจะกลายเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย จากเดิมต้นทุนในการผลิตไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งอยู่แล้ว ค่าเงินบาทจะลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไปด้วย ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง การที่กลุ่มเกษตร และกลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีการจ้างงานมากถึง 30-40% ของการจ้างงานภายในประเทศ ยิ่งจะทำให้จำนวนการว่างงานพุ่งสูงขึ้น ฉะนั้นนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
“รัฐบาลควรไปให้ความสำคัญในเรื่องลดค่าครองชีพ ลดต้นทุนการผลิต เช่น น้ำมัน พลังงาน ราคาปุ๋ยจะดีกว่า เพราะการขึ้นค่าแรงเท่ากับการซ้ำเติม เร่งให้ SMEs ปิดกิจการมากขึ้นไปอีก อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาเขาก็สู้ราคาสินค้าจีนไม่ได้อยู่แล้วจะไปเติมต้นทุนให้แพงขึ้นอีก ขณะที่ดอกเบี้ยก็ยังสูง” รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้ รัฐบาลเร่งเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และชัดเจนมากกว่านี้ ยกตัวอย่างการสื่อสารเรื่องค่าเงินบาทของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ถือเป็นเคสหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจกันไปคนละทาง ซึ่งอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ เพราะความเชื่อมั่นถือเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจของรัฐบาล
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ยอมรับว่า ค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 ปีนี้จากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.