กสทช.ผนึก สตาร์ทอัพ เชื่อมต่อ Mobile ID หนุนเอกชนใช้งานรูปธรรม

นางสาวพูลศิริ นิลกิจศรานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า โครงการทดลองทดสอบ Mobile ID ระบบยืนยันตัวตนผ่านโทรศัพท์มือถือ ของ กสทช.ที่ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) มีผู้ใช้งาน 1.5 แสนเลขหมาย คาดว่าภายในต้นปี 2568 Mobile ID จะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ โอเปอเรเตอร์ ต้องเป็นผู้ขอใบอนุญาตในการเป็นผู้ให้บริการกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA 

ดังนั้นเพื่อต่อยอดให้เอกชนมีการใช้งาน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ให้เงินสนับสนุนผู้ชนะรางวัลโครงการประกวดนวัตกรรมใหม่ในการนำบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์โทรศัพท์เคลื่อนที่ (แทนบัตร) ไปใช้งาน Mobile ID โดยบริษัทที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ บริษัท นายเน็ต จำกัด นำไปต่อยอด

พูลศิริ นิลกิจศรานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการกสทช.

ขณะนี้ได้เริ่มใช้ Mobile ID กับคลินิกทันตกรรม โรงแรม ที่พัก และรีสอร์ท  และ บริษัท เออเบิ้น รูม จำกัด และผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เริ่มใช้ Mobile ID แพลตฟอร์ม “มีโหวต” ช่วยให้การมีส่วนร่วมของคนในสังคมเป็นเรื่องง่าย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน Mobile ID เป็นวงกว้าง

บริการนี้ส่งผลให้ธุรกิจและประชาชนทั่วไป และภาคเอกชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และยังเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญลดการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นช่องว่างให้กลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวง ประชาชนจนเกิดความเสียหายอีกด้วย

นายทินกร เหล่าเราวิโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นายเน็ต จำกัด ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด Mobile ID Innovation Award ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการนำเทคโนโลยี Mobile ID มาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจบริการ โดยปัจจุบันบริษัทได้เชื่อมโยงระบบ Mobile ID เข้ากับคลินิกทันตกรรมที่บริษัทดูแลระบบหลังบ้านอยู่แล้วกว่า 2,000 แห่ง ผ่าน โปรแกรมบริหารคลินิกทัตกรรม FD  ยืนยันตัวตนคนไข้ผ่าน Mobile ID ไร้กระดาษ สร้างความปลอดภัยให้คนไข้ 

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา Mobile Hotel ให้ผู้เข้ามาใช้บริการ สามารถแสกน QR cord เพื่อเช็คอินตัวตนด้วย Mobile ID รายชื่อผู้เข้าพักจะปรากฏบนหน้าจอ และสามารถส่งข้อมูลทะเบียนผู้พัก ร.ร.4 ไปยังกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยได้ทันที ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเอกชนทุกภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องการการยืนยันตัวตนของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมที่พัก อาคารสำนักงาน  สามารถเข้าใช้งานได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://app.digitalid.center/#/welcome นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยหลังจากเปิดตัว นายเน็ต ตั้งเป้าโรงแรม ที่พัก ใช้การส่งข้อมูลแบบดิจิทัลเพิ่มเป็น 50% ภายใน 1 ปี จากเดิมมีการส่งข้อมูลเพียง 25% 

ทินกร เหล่าเราวิโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายเน็ต 

การนำ Mobile ID มาใช้ในภาคธุรกิจบริการ ไม่เพียงแต่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานและลดต้นทุนการใช้กระดาษของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้กับประชาชน ไม่ต้องนำบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรประชน ทิ้งไว้กับใครอีกต่อไป ที่ผ่านมา นายเน็ต ได้ร่วมจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่การเชื่อมต่อระบบกับ  Mobile ID โดยมี สตาร์ทอัพ กว่า 200 บริษัท อาทิ กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานที่ควบคุมการเข้า-ออก รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วม เพื่อต่อยอดนวัตกรรม Mobile ID  ให้ใช้งานได้อย่างแพร่หลายในภาคเอกชน    

นายแทนศร พรปัญญาภัทร กรรมการ บริษัท เออเบิ้น รูม จำกัด และผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวด Mobile ID Innovation Award ได้เปิดเผยว่า แพลตฟอร์ม “มีโหวต” mevote.org [https://www.mevote.org/] ช่วยให้การมีส่วนร่วมของคนในสังคมเป็นเรื่องง่าย โดยกำหนดขอบเขตของผู้มีส่วนร่วมด้วย Mobile ID ที่บริษัทพัฒนาขึ้น จากประสบการณ์ในการทำงานด้านการพัฒนาเมือง 

พบว่า หนึ่งใน Pain Point ที่สำคัญของระบบทำแบบสอบถามและการรับฟังความคิดเห็น คือ ความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์  ดังนั้น การที่แพลตฟอร์มมีโหวตเชื่อมโยงกับการยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID จึงช่วยแก้ Pain Point ได้โดยตรง อีกทั้ง ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามหรือการรับฟังความคิดเห็นแบบออนไลน์ก็สามารถกรอกข้อมูลได้อย่างสะดวก ช่วยให้มั่นใจถึงแหล่งที่มาโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย 

แทนศร พรปัญญาภัทร กรรมการ เออเบิ้น รูม

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มมีโหวตยังช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากระบบปกติ การลดอุปสรรคในการแสดงออก และการนำไปสู่ความหลากหลายของความคิดเห็นมากขึ้น 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.