ก.ล.ต. กล่าวโทษกรรมการ-อดีตบอร์ด-ผู้บริหาร NUSA ทุจริตและแสดงข้อมูลเท็จ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนในปี 2566 จึงได้ทำการตรวจสอบรวมทั้งประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และพบพยานหลักฐานที่แสดงได้ว่า ในช่วงปี 2563 กรรมการและผู้บริหาร NUSA รวม 4 ราย ได้แก่ (1) นางศิริญา เทพเจริญ (2) นายวิษณุ เทพเจริญ (3) นายสมพิจิตร ชัยชนะจารักษ์ และ (4) นายนนทวัชร์ ธนสุวิวัฒน์ ได้ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตลงทุนซื้อโรงแรม Panacee Grand Hotel Roemerbad ที่ประเทศเยอรมนี (Panacee) ในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินที่ประเมินด้วยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market approach) อย่างไม่สมเหตุสมผล 

และร่วมกันกระทำการโดยทุจริตขายห้องชุด ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ของ NUSA ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน รวมทั้งผ่องถ่ายเงินออกจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิด อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จนทำให้ NUSA ได้รับความเสียหาย 

โดยมี (5) นางสาววรินภร จันทรโรจน์วานิช ซึ่งเป็นผู้ขายโรงแรม Panacee และ (6) นางโฉมสุดา รุ่งเรืองเนาวรัตน์ กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทผู้ซื้อห้องชุดจาก NUSA เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือการกระทำความผิดของบุคคลตาม (1) - (4) 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า เงินมัดจำค่าซื้อโรงแรมข้างต้นที่ NUSA ชำระให้แก่นางสาววรินภร ผู้ขายโรงแรม ไม่ได้ถูกนำเข้าบัญชีของผู้ขาย แต่กลุ่มกรรมการและผู้บริหาร NUSA ได้แก่ นางศิริญา นายวิษณุ และนายนนทวัชร์ รวมถึงบุคคลใกล้ชิดเป็นผู้ได้รับประโยชน์ของเงินขายโรงแรมดังกล่าว 

นอกจากนี้ ในชั้นการทำคำชี้แจงต่อ ก.ล.ต. ในกรณีข้างต้น กรรมการและผู้บริหารของ NUSA ในขณะกระทำผิดทั้ง 4 ราย ได้นำส่งพยานหลักฐานเอกสารและข้อมูลอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. โดยได้นำส่งรายงานของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเป็นเท็จ เพื่อลวงไม่ให้ ก.ล.ต. ทราบมูลค่าที่แท้จริงตามบัญชีของโรงแรมดังกล่าว 

อีกทั้งยังพบว่า ได้ทำการตกแต่งบัญชีเพื่อลวงผู้สอบบัญชีของบริษัทให้เชื่อว่า NUSA ได้รับชำระหนี้ค่าห้องชุดครบถ้วนจากบริษัทผู้ซื้อแล้ว เพื่อไม่ให้ผู้สอบบัญชีมีข้อสงสัยในการบันทึกบัญชีของธุรกรรมข้างต้น

การกระทำของกรรมการ NUSA กับพวกรวม 6 รายข้างต้น กรณีร่วมกันทุจริตในการเข้าซื้อโรงแรมที่ประเทศเยอรมนีและกรณีร่วมกันทุจริตการขายห้องชุดของ NUSA ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน รวมทั้งผ่องถ่ายเงินออกจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิดดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 89/24 มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 312 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) และมาตรา 83 หรือมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี 

นอกจากนี้ กรณีการแสดงเอกสารและข้อมูลเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. และการลวงผู้สอบบัญชี เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรามาตรา 302 มาตรา 302/1 และมาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 6 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกด้วย

ทั้งนี้ การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ DSI

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.