น้ำท่วม ดันเงินเฟ้อเดือน ส.ค.67 สูงขึ้น 0.35%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2567 เท่ากับ 108.79 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.41 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวที่ 0.35% โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง รวมถึงข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง และอาหารตามสั่ง ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า) ราคาปรับลดลง สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 0.83% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 10 จาก 128 เขตเศรษฐกิจ ที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้น 0.35% ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.83% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด กลุ่มอาหารสำเร็จรูป กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร อาทิ น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป ขณะที่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ส้มเขียวหวาน ปลาทู น้ำมันพืช และไก่ย่าง เป็นต้น
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.68% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า) กลุ่มสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด กลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และกลุ่มเสื้อผ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ค่าเช่าบ้าน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี และเครื่องถวายพระ เป็นต้น
เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.62% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2567 ที่สูงขึ้น 0.52%
สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ราคาผักสดและผลไม้สดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกในบางพื้นที่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น และ สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งทางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
"คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ 0.0-1.0% เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศษฐกิจในปัจจุบัน และคาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 1.5% จากปัจจัยหลังจาก ราคาน้ำมันดีเซล ที่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนทางรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน กำหนดเพดานราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งตอนนี้รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อชัดเจน" นายพูนพงษ์ กล่าว
ส่วนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะมีการแจกเป็นเงินสดในเฟสแรก ในเดือนก.ย.นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลนั้น เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ แต่ช่วยเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.