ธนิต ฟาดนโยบายลดภาษีดึงแรงงานกลับไทย ไม่จูงใจ สร้างความไม่เป็นธรรมในระบบ
ล่าสุด รัฐบาลได้ผุดมาตรการทางภาษี หวังจูงใจแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในประเทศไทย โดยเน้นกล่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของครม.ไปแล้ว เมื่อวานนี้(30ก.ค.67) โดยลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับลูกจ้าง เหลือเพียง 17% ของเงินได้ และให้นายจ้างหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า
มาตรการดังกล่าว กระทรวงการคลัง ได้ประมาณว่า จะไม่ทำให้รัฐสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศและไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย แต่มาตรการนี้อาจเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้แก่ภาครัฐ
หลังมาตรการประกาศออกมา ในมุมมองของภาคเอกชนกลับไม่เห็นด้วย และมองว่า มาตรการลดภาษีดังกล่าวไม่น่าจะดึงแรงงานไทยที่มีศักยภาพให้กลับมาทำงานไทยได้มากนัก เพราะยังไม่จูงใจมากพอ
โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวกับ สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ ว่า แม้รัฐบาลจะหั่นอัตราภาษีเหลือ 17% จากปัจจุบันที่คนไทยต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดที่ 35% ต่อปี แต่เชื่อว่ายังไม่จูงใจพอ ที่จะดึงดูดให้แรงงานตามกลุ่มเป้าหมายให้กลับไทย เนื่องจากรายได้ที่เขาได้รับจากต่างประเทศมีอัตราสูง นอกจากนี้ต้องดูว่าอัตราภาษีที่แรงงานไทยต้องจ่ายในประเทศนั้นๆ อยู่ในอัตราเท่าใด หากอัตราภาษีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไทย มาตรการนี้ก็ไม่จูงใจ เช่น สิงคโปร์ เขามีอัตราภาษีที่ต้องจ่ายต่ำกว่าไทย ทั้งนี้ยังเห็นว่า เป็นมาตการนี้ยังไม่เป็นธรรมกับคนไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศ
“มาตรการยังไม่ดึงดูดให้แรงงานกลุ่มเป้าหมายกลับมา ที่สำคัญรัฐบาลจะพิสูนจ์ยังไง ว่าคนไหนกลับมาเพราะมาตรการนี้จริงๆ หรือใครตั้งใจกลับไทยอยู่แล้ว ต่อไปคนอาจไปทำงานต่างประเทศก่อนสักปีนึง เพื่อรอกลับมาใช้สิทธิ์ลดภาษี ซึ่งมันไม่แฟร์กับคนสมองดี รักชาติ ตั้งใจทํางาน แต่อยู่ในประเทศไทย แสดงว่าเขาโง่กว่าหรอ เทียบกับคนกลุ่มนึงที่ไปทํางานเมืองนอก แต่คุณกลับให้สิทธิประโยชน์เขา” ดร.ธนิต กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลควรให้สิทธิประโยชน์กับบุคลากรในอาชีพที่ไทยขาดแคลนจริงๆ มากกว่ากำหนดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ แต่กลับไม่มีบุคคลกรทางการแพทย์รองรับเพียงพอก็ไม่มีประโยชน์ จึงเห็นว่าว่าภาครัฐควรออกมาตรการจูงใจแรงงานต่างชาติที่มีศักยภาพ เพื่อให้เขามาทำงาน หรือพัฒนาในสาขาที่ไทยขาดแคลนจะดีกว่า
“จะเห็นด้วยมากกว่า หากรัฐบาลใช้มาตรการภาษีจูงใจแรงงานต่างชาติ ที่เก่งๆ มีศักยภาพ ในอาชีพที่ไทยยังขาดแคลนอยู่มากในหลายสาขา เหมือนอย่างที่หลายประเทศทำกัน เช่น สิงคโปร์ เช่น อาชีพวิศวกร กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ครู อาจารย์ หรือให้เขามาตั้งแผนกวิจัยและพัฒนา (Research and Development, R&D) ก็ได้ ” ดร.ธนิต กล่าว
ในส่วนสิทธิประโยชน์ของนายจ้าง ที่ให้หักค่าใช้จ่ายได้ถึง 1.5 เท่านั้น มองว่า ก่อนนายจ้างจะเข้ามาดำเนินธุรกิจใดๆ ต้องมีแรงงาน หรือ เทคโนโลยีพร้อมไว้อยู่แล้ว หากขาดแรงงานเขาก็ต้องหา ถ้ามีคนไทยกลับเข้ามาในประเทศก็มีงานรองรับอยู่แล้ว ดังนั้นทำไมเราต้องลดภาษีให้นายจ้างมากถึง 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับการให้สิทธิของผู้สูงอายุเกษียณตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รัฐบาลกลับให้สิทธิในการหักรายจ่ายได้เพียง 2 เท่าของรายได้ แถมมีเงื่อนไขในการรับเงินมากมาย
“รัฐบาลกลับทบทวนให้ดี มาตรการนี้ออกไปได้ประโยชน์อะไร ให้ไปดูการให้สิทธิประโยชน์ในอาชีพที่ไทยขนาดแคลนจริงๆ รวมถึงการลดหย่อนให้นายจ้างให้เหมาะสม เพราะปกติเขาต้องการคนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปลดหย่อนอะไรมากมาย” ดร.ธนิต กล่าว
สำหรับ ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.