จับตา ประชุมบอร์ด กสทช.17 ก.ค. คาด กกท. ชวดงบลิขสิทธิ์โอลิมปิก 435 ล.
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช. ครั้งที่ 15/2567 วันที่ 17 ก.ค.67 มีวาระพิจารณาเรื่อง การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศล ของการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) หลังจากที่ได้มีการพิจารณาในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ที่ประชุมบอร์ด ยังไม่ได้ข้อยุติ และมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในที่ประชุม จนต้องปิดประชุมและจะนำมาพิจารณาในการประชุมบอร์ดใหญ่ครั้งนี้
ทั้งนี้ในการขอรับการสนับสนุนเงินการถ่ายทอดสดครั้งนี้ ในช่วงแรก กกท. ได้ขอรับการสนับสนุนในครั้งแรก 800 ล้านบาท ต่อมาได้ลดวงเงินเหลือ 435 ล้านบาท ทำให้บอร์ดบางคนมีความสงสัยถึงวงเงินที่ลดลง ซึ่งทาง กกท. ได้ชี้แจงว่า จากการเจรจากับเอกชนในหลายภาคส่วนรวมถึงช่องทีวีเห็นว่าจะสามารถออกเงินได้ส่วนหนึ่ง และขอให้ภาครัฐ สนับสนุนเหลือวงเงิน 435 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ของ กกท.ขาดสภาพคล่อง มีงบประมาณไม่เพียงพอ
แหล่งข่าว จาก กสทช. กล่าวว่า ในการขอรับการสนับสนุนเงินถ่ายทอดสดครั้งนี้ ทาง กกท. ยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และมีข่าวว่า มีเอกชนไปได้ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว เหตุใดถึงมาขอเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กองทุน กทปส.) อีก ดังนั้นเมื่อเอกชนที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว ควรจะนำลิขสิทธิ์ที่ได้ไปบริหารด้านการตลาดและจัดหารายได้เอง ซึ่งเอกชนเองก็ต้องดำเนินการตามกฎ มัสต์แฮฟ ที่ต้องนำมาถ่ายทอดสดออกฟรีทีวีด้วย เนื่องจากโอลิมปิก เป็นประเภทกีฬาที่ถูกกำหนดให้อยู่ในกฎ มัสต์แฮฟ นอกจากนี้การ การขอรับเงินสนับสนุนให้ครั้งนี้ยังแตกต่างจากโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา ที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ออกมารองรับ ทำให้บอร์ด กสทช.ชุดก่อนลงมติให้งบสนับสนุน
อย่างไรก็ตามการขอรับการสนับสนุนครั้งนี้ ทาง ครม. เพียงรับทราบการดำเนินการขอรับเงินสนับสนุนของ กกท.จาก กองทุน กทปส. แต่ไม่ได้มีมติเห็นชอบ ทำให้บอร์ด กสทช. ส่วนใหญ่เกรงว่า หากอนุมัติเงินสนับสนุนอาจจะเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายที่เอาเงินกองทุนฯไปให้เอกชน จึงมีความเป็นไปได้ว่าในการประชุมบอร์ดในวันที่ 17 ก.ค.นี้ หากมี การลงมติของ กสทช .เสียงส่วนใหญ่จะมีลงมติไม่เห็นชอบที่จะมอบเงินสนันสนุนตามที่ กกท.ขอสนับสนุนมา เพราะอย่างที่รู้กันว่าขณะนี้เสียงข้างมากที่ไม่เห็นด้วยมี 4 เสียง และการโหวตครั้งนี้อาจไม่เห็นด้วยมากกว่า 4 เสียง
แหล่งข่าวยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การแข่งขันโอลิมปิก เป็นกีฬาที่รู้ว่าจะมีการจัดแข่งขันล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี กกท.น่าจะมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าในการหาเงินมาซื้อลิขสิทธิ์ หากต้องดำเนินการเอง และเมื่อทาง กสทช. ถามเรื่องราคาค่าลิขสิทธิ์ในการซื้อกลับไม่ได้คำตอบจาก กกท.
กฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี มีข้อกำหนดให้ผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ต้องนำคอนเทนต์มาออกทางฟรีทีวีอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง นอกจากนี้ได้มีการสอบถาม ว่ามีเอกชนได้ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วหรือไม่ ก็ไม่มีข้อมูลให้ แต่เท่าที่ทราบตอนนี้เอกชนที่ได้ลิขสิทธิ์ แล้วและมีการขายสิทธิ์ในการออกอากาศให้กับ 2 ค่ายมือถือ เพื่อนำไปออกอากาศในกล่อง IPTV ของตน ซึ่งทั้ง 2 ค่ายมือถือ ได้ทำหนังสือขออนุญาตออกอากาศมาที่สำนักงาน กสทช.แล้ว
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ทาง สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้ยื่นหนังสือถึง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กรรมการ กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เรียกร้องว่า หาก กสทช. โดย กองทุน กทปส. จะนำเงิน 435 ล้านบาทสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการ ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดถ่ายทอดสดกีพาโอลิมปิก-พาราลิมปิก 2024 ตามที่มีข่าวออกมานั้น ขอให้ กสทช. โปรดพิจารณาและทบทวน เพื่อหาแนวทางในการสร้างบรรทัดฐานและความเข้าใจอันดีหรือ จัดสรรสิทธิ์การถ่ายทอดให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
หากมีการนำเงินจากกองทุน กทปส. มาสนับสนุน เนื่องจากแหล่งที่มารายได้ของกองทุน กทปส. มาจาก ค่าธรรมเนียม และค่าปรับของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับสถานีโทรทัศน์ ช่องต่างๆ ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เหมือนการบริหารสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.