ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน ก.ย.67 “ทรงตัว” หวังงบ บจ.-มาตรการกระตุ้น ศก. หนุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-30 มิถุนายน 2567) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 82.89 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” 

โดยผลสำรวจ ณ เดือนมิถุนายน 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนทุกกลุ่มปรับลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 3.3% มาอยู่ที่ระดับ 93.65 และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 10.0% มาอยู่ที่ระดับ 110.00 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ส่วนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 42.9% มาอยู่ที่ระดับ 57.14 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 25.0% อยู่ที่ระดับ 75.00 อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”

ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมา คือ การไหลออกของเงินทุน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ
 
ขณะเดียวกัน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)

สำหรับในช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน 2567 SET index ปรับตัวลดลงจากความกังวลทั้งจากปัจจัยทางการเมือง อาทิ คดีของนายกรัฐมนตรีและพรรคก้าวไกลที่อยู่ในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศทั้งภาคการผลิตและภาคการส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ส่งผลให้ดัชนีหลุดกรอบ 1,300 จุด ในช่วงกลางเดือน 

อย่างไรก็ตาม ดัชนีปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของเดือน โดยได้แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ อาทิ การปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) และเตรียมฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์ โดย SET Index ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ปิดที่ 1,300.96 จุด ปรับตัวลดลง 3.3% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 45,238 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 34,342 ล้านบาท  โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 115,983 ล้านบาท

ทางด้านปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางในแต่ละประเทศจากการที่อัตราเงินเฟ้อโลกชะลอตัวลง อีกทั้งต้องจับตามองการเลือกตั้งในสหรัฐและสภายุโรป และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ 

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ มาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกและการบริโภคในประเทศ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐซึ่งจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และติดตามผลของมาตรการกระตุ้นตลาดทุนผ่านกองทุน ThaiESG และผลของมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยลดแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติและอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.