“เจียรวนนท์” เสียแชมป์ตระกูลรวยสุดของไทยในรอบทศวรรษให้ “อยู่วิทยา”

นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ระบุว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังส่งผลให้ดัชนีหุ้นอ้างอิงลดลง 15% นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องไปถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ความมั่งคั่งรวมของเหล่ามหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทยจึงลดลงเกือบ 12% เหลือเพียง 1.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.73 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2023

โดยอันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2024 พบว่า “เฉลิม อยู่วิทยา” ขยับขึ้นสู่อันดับ 1 หลังจากที่ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังมียอดขายมากกว่า 12,000 ล้านกระป๋องทั่วโลก ทำให้มหาเศรษฐีกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่ครองอันดับ 1 มายาวนานเกือบทศวรรษ หล่นลงมาอยู่อันดับ 2

โดย 5 อันดับแรกของมหาเศรษฐีไทยประกอบด้วย

1 เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ 1.32 ล้านล้านบาท)

​ธุรกิจ: อาหารและเครื่องดื่ม

​ขยับขึ้นจากอันดับ 2 ​จากปีที่ผ่านมา Red Bull เครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งขายได้มากกว่า 1.2 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลกในปี 2023 โดยครอบครัวอยู่วิทยาถือหุ้นอยู่ 51%  ก่อตั้งโดย ‘เฉลียว อยู่วิทยา’ และร่วมทุนทางธุรกิจกับ มหาเศรษฐีชาวออสเตรีย Dietrich Mateschitz ซึ่งทั้งคู่เสียชีวิตไปแล้ว

2 พี่น้องเจียรวนนท์

​มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.06 ล้านล้านบาท)

​​ธุรกิจ : อาหารและเครื่องดื่ม

​​อันดับลดลงจากอันดับ 1 ​เมื่อปีที่แล้ว โดยต้นกำเนิดธุรกิจของเครือซีพี ที่เริ่มจากการเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าจากจีนให้เกษตรกรไทยในปี 1921 โดยมี "ธนินท์ เจียรวนนท์"  เป็นประธานและซีอีโอของซีพีมาเป็นเวลา 48 ปี ก่อนก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2017 แต่ยังคงเป็นประธานอาวุโส  

3 เจริญ สิริวัฒนภักดี

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.68 แสนล้านบาท)

ธุรกิจ: อาหารและเครื่องดื่ม

อันดับไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา โดย ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ เป็นเจ้าของไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากรายได้   นอกจากนี้ยังมีอาณาจักรค้าปลีก ได้แก่ เครือไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และยังมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง AWC ที่มีโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ รวมถึงยังมีโปรเจ็กต์อสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่คือ One Bangkok มูลค่ากว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์  

 

4 ครอบครัวจิราธิวัฒน์

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9.9 พันล้านดอลลาร์ (3.64 แสนล้านบาท)

​​ธุรกิจ: แฟชั่นและค้าปลีก

​​อันดับไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา โดยครอบครัวจิราธิวัฒน์ เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้พัฒนาห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของพื้นที่เช่าสุทธิ ในเดือนพฤศจิกายน 2023 กลุ่มเซ็นทรัลยังได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในห้างสรรพสินค้า Selfridges ในลอนดอน และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย และในเดือนเมษายน 2024 กลุ่มเซ็นทรัลได้ซื้ออาคารห้างสรรพสินค้า KaDeWe  จากบริษัท Signa ในออสเตรีย มูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์

 

5 สารัชถ์ รัตนาวะดี

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9.2 พันล้านดอลลาร์ (3.38 แสนล้านบาท)

​​ธุรกิจ : พลังงาน

​​อันดับไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา โดยสารัชถ์ รัตนาวะดี ดำรงตำแหน่งซีอีโอของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ปี 2021 สารัชถ์ได้เข้าถือหุ้นใน InTouch Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและหน่วยไร้สาย Advanced Info Service (AIS) ทั้งนี้ การร่วมทุนระหว่างกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี กับ Singtel และ AIS เพื่อจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2025

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.