ธปท.รับโจทย์ ผ่อนเกณฑ์เข้าถึงสินเชื่อ ลดติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ได้มีการพูดคุยเบื้องต้นกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ถึงแนวทางในการผ่อนคลายเกณฑ์ในการเข้าถึงสินเชื่อ และอีกหลายๆเรื่อง เช่น การเข้าสู่สภาวะการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ของประชาชน โดยเฉพาะแนวทางช่วยเหลือผู้ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ที่อยากให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากปัจจุบันการตัดหนี้เสียของสถาบันการเงินจะต้องใช้เวลา 5 ปี และถูกเก็บประวัติไว้ที่เครดิตบูโรอีก 3 ปี เปลี่ยนเป็นตัดหนี้เสีย 3 ปี และเก็บประวัติไว้ 3 ปี เนื่องจากประชาชนที่เป็น NPL ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนกลายเป็นลูกหนี้รหัส 21 ซึ่งมีอยู่ราว 4 ล้านราย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่ง ธปท. ก็รับโจทย์เรื่องนี้ไป และจะต้องมีการหารือกันต่อ ซึ่งยอมรับว่าอาจจะไม่ได้ข้อสรุปในทันที โดยต้องมาทยอยดูรายละเอียดกัน แต่ยืนยันจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไว้แล้วหลายมาตรการ แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสรุป จึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ โดยต้องยอมรับว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยไม่ดี เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรู้ดีอยู่แล้ว สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ที่ออกมาค่อนข้างต่ำเพียง 1.5% ขณะเดียวกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2567 ลงเหลือ 2.4-2.5% เท่านั้น

 

โดยขณะนี้มี 3 กลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ การเร่งรัดการเบิกจ่าย การท่องเที่ยว และการเร่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งหากคำนวณตามสูตรแล้ว เชื่อว่า 3 กลไกดังกล่าวจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวได้ราว 0.6% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3% ได้ เนื่องจากโครงการ Digital Wallet ยังไม่มา
 

ส่วนแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ ยังมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการคลังยังเชื่อว่าการจัดเก็บรายได้จะพลาดเป้าไม่มากนัก ไม่มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด โดยทุกอย่างยังอยู่ในกรอบและกลไกของรัฐที่จะสามารถดูแลและบริหารจัดการได้ในระดับปกติ ขณะที่กลไกในการหารายได้เพิ่มนั้น กระทรวงการคลังก็มีการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง บนเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพคล่องอยู่ราว 24 ล้านล้านบาท อยู่ในระบบจริงไม่เกิน 18 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นทุนสำรองตามกฎหมาย ดังนั้นอาจจะต้องมาดูว่าจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อเข้ามากระตุ้น และขับเคลื่อนเพื่อให้เม็ดเงินเหล่านี้ลงสู่ระบบได้มากขึ้น โดยตอนนี้มี 2 มุม คือ 1.ดำเนินการผ่านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ 2. ดำเนินการผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อให้มากขึ้น สามารถทำได้ผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งก่อนหน้านี้คลังได้เห็นชอบการปรับระบบการให้ผลตอบแทนตามระบบประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเปลี่ยนออมสินจากประเภทจัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส (กลุ่มที่ 2) ไปเป็นประเภทที่ใช้ระบบแรงจูงใจด้านโบนัสพนักงานที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น การดำเนินการตามนโยบายรัฐ การช่วยเหลือประชาชน (กลุ่ม 6) ก็จะทำให้ออมสินมีความคล่องตัวมากขึ้นในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชน

 

“มุมเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ แบงก์รัฐอย่างออมสินทำได้ และคลังไม่ได้ห่วงเรื่องเงินนำส่งที่จะลดลง แต่มองเรื่องประชาชนเป็นหลัก เรื่องนี้จะเป็นผลดีกับประชาชนจำนวนมาก เรื่องเงินนำส่งที่ลดลงจึงนำมาเทียบไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้ทำให้กลไกแบงก์รัฐสามารถเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเป็นไปตามกลไกการกำกับดูแลของธปท.” นายจุลพันธ์ กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.