เปิดไทม์ไลน์ ก่อน SABUY กลายเป็นหุ้นต่ำบาท ดิ่ง 97.42% จากนิวไฮ 38 บาท ในปี 65
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY วันนี้ (14 มิ.ย.) ปิดตลาดที่ 0.98 บาท ลดลง 0.08 บาท หรือลดลง 7.55% ระหว่างวันขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 1.04 บาท และปรับตัวลงไปทำราคาต่ำสุดที่ 0.96 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 101.70 ล้านบาท
ทั้งนี้ “โพสต์ทูเดย์” จะพามาดูไทม์ไลน์ว่าเกิดอะไรก่อนที่ SABUY จะกลายเป็นหุ้นราคาต่ำบาท
เริ่มตั้งแต่วันเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2563 ดูทรงไม่ค่อยสวย เพราะเปิดซื้อขายที่ราคา 2.50 บาท เท่ากับราคาเสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลการดำเนินงานก็ไปสวย ปิดปี 2563 มีรายได้ 1,512.72 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 102.06 ล้านบาท
จากนั้นวันที่ 16 มี.ค.2564 ได้ย้ายเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ขณะเดียวกัน มีการเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง ด้านผลการดำเนินงานยังคงเติบโต โดยในปี 2564 มีรายได้ 2,339.11 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 213.60 ล้านบาท
ด้านราคาหุ้นก็ยังคงทยอยปรับตัวขึ้น กระทั่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 ที่ราคา 38 บาท หลังจากนั้นราคาหุ้นเริ่มปรับตัวลดลง สวนทางกับผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง มีรายได้ 5,325.38 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,482.11 ล้านบาท รวมทั้งยังคงเดินหน้าปิดดีลซื้อกิจการจำนวนมาก
จนทำให้ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในขณะนั้น วางเป้ารายได้ปี 2566 แตะ 20,000 ล้านบาท แต่แล้วเมื่อจบปี 2566 ประกาศผลการดำเนินงานออกมา กลับทำรายได้เพียง 9,629.82 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 189.83 ล้านบาท จากที่เคยมีกำไรสุทธิมาตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2563 และเริ่มมีการทยอยขายกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งซื้อมาก่อนหน้านี้ออกไป
เป็นที่มาให้ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” รับผิดชอบที่ไม่สามารถทำรายได้ตามเป้าที่วางไว้ ต่อมาลาออกจากการเป็นกรรมการ และขายหุ้นของ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ให้กับ บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI จำนวน 30 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 4.50 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 135 ล้านบาท โดย MGI สามารถส่งบุคลากรที่เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารของบริษัท
นอกจากนี้ แต่งตั้ง “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” เป็นกรรมการ แทน นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ที่ลาออก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2567 เป็นต้นไป และให้ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร
ตรงนี้เองที่เป็นจุดพีคที่ทำให้ราคาปรับตัวลงมาต่ำกว่าราคา IPO ที่ 2.50 บาท เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในหุ้น SABUY จากผลการดำเนินงานดังกล่าว รวมทั้งผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นอันดับ 1 อย่าง “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ขายทิ้งหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ไม่เป็นท่า
จากนั้นในเดือน เม.ย. และ พ.ค.2567 “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ก็ยังคงขายหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ใน SUBUY อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เดือน มิ.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) พบรายงานการจำหน่ายหุ้นของ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY โดย ชูเกียรติ รุจนพรพจี เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2567
โดยจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายไป 40,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.3926% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จากจำนวนหลักทรัพย์ก่อนการจำหน่ายไป อยู่ที่ 90,000,000 หุ้น คิดเป็น 5.3835% ส่งผลให้จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายไป อยู่ที่ 50,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.9908% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
อีกจุดที่ทำให้ราคาหุ้น SABUY ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 1 บาท คือ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 ที่ประกาศออกมามีรายได้ 1,890.18 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิถึง 1,890.18 ล้านบาท จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/2567 เนื่องจากผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่อง
โดย SABUY ขาดทุน 1,961 ล้านบาท มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน และขาดทุนสะสม 3,084 ล้านบาท และมีข้อสังเกตกรณีมีข้อบ่งชี้ว่ากลุ่ม SABUY สูญเสียอำนาจควบคุมใน บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT
ทั้งนี้ SABUY ได้ตั้งด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น รวมทั้งเงินให้กู้ยืมแก่ SBNEXT ทั้งจำนวนรวม 1,464 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทมีผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน บริษัท ดับเบิ้ลเซเว่น จำกัด (DOU7) 996 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทาง SABUY ก็ได้มีการชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ตามที่ ตลท. แจ้งให้ดำเนินการ พร้อมยอมรับว่า สูญเสียอำนาจการควบคุม SBNEXT
หากมองในส่วนราคาหุ้น SABUY จะเห็นว่าปรับตัวลดลงไปถึง 97.42% จากราคาที่ทำสถิติสูงสุด 38 บาท ก็คงได้แต่หวังว่า ทุนใหม่ อย่าง “Lightnet” เป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้านการเงินอยู่หลายประเทศทั่วโลก โดย Lightnet เน้นการให้บริการเครือข่ายการชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ ที่มี “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ถือหุ้น 69.54% จะเข้ามากอบกู้ SABUY และกระชากราคาหุ้นให้กลับขึ้นไปเหนือราคา IPO
หลังจากที่ บอร์ด SABUY มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 24 มิ.ย.2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวนไม่เกิน 2,510,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 2,061,370,366 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ จำนวน 4,571,370,366 บาท
โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 2,510,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เพื่อเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 1,300,000,000 หุ้น และรองรับการใช้สิทธิของหลักทรัพย์แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิ SABUY-W3 จำนวน 1,210,000,000 หุ้น
ทั้งนี้ การเสนอขาย PP มีราคาเสนอขายหุ้นละ 2.30 บาท โดยจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,200,000,000 หุ้น ให้แก่ Lightnet Pte. Ltd และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 100,000,000 หุ้น ให้แก่ นายอานนท์ชัย วีรประวัติ ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 หรือคิดเป็นสัดส่วน 8.10% ของ SABUY
การออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ SABUY-W3 มีราคาเสนอขาย 0.00 บาทต่อหน่วย อัตราการใช้สิทธิ 1.00 ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1.00 หุ้น ราคาการใช้สิทธิ 3.00 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 5 ปี ผู้ได้รับจัดสรรประกอบด้วย Lightnet Pte. Ltd. จำนวนใบสำคัญแสดงสิทธิที่จัดสรร 800,000,000 หน่วย นายอานนท์ชัย วีระประวัติ จำนวนใบสำคัญแสดงสิทธิที่จัดสรร 60,000,000 หน่วย Hiwell Global Co., Ltd จำนวนใบสำคัญแสดงสิทธิที่จัดสรร 350,000,000 หน่วย
ภายหลังธุรกรรมการออกและเสนอขายหุ้น PP ดังกล่าว Lightnet Pte. Ltd. จะมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SABUY หรือมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 40.38% หลังจากการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ ซึ่งเป็นผลให้ Lightnet Pte.Ltd. จะถือหุ้นในสัดส่วนข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทที่ 25% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด และมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โดยเตรียมขออนุมัติต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการโดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Whitewash)
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.