ผ่าอาณาจักร SCC ในมือ “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” เสี่ยงมรสุมเศรษฐกิจโลก

     ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 6 หลังจาก “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่” บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ซึ่งรับไม้ต่อจาก “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” ที่เกษียณอายุและมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาการทำงานเรียกได้ว่าพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรกธุรกิจไม่หยุดหย่อน

     เริ่ม มรสุมแรก คือ เหตุการณ์ที่ "รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งปรับ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด (SCG Plastics) บริษัทย่อยของ SCC ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านจากการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐชำระค่าสินค้าที่ผลิตในอิหร่าน ช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2561" เมื่อสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา(OFAC) เข้าตรวจสอบการขาย PE ของ SCG Plastics ที่ค้าขายช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ถึง เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561ว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่ 

     ครั้งนั้น SCG Plastics ให้ความร่วมมือกับทางราชการของสหรัฐฯ และเมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสอบ OFAC เห็นว่าให้ความร่วมมือรวมถึงออกนโยบายป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต OFAC จึงเสนอให้ SCG Plastics ทำ Settlement Agreement โดยให้จ่ายเงินค่าประนอมยอมความให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ OFAC ยุติการพิจารณาข้อหาดังกล่าว ซึ่ง SCC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯถึงข้อเท็จจริงและตั้งสำรองในงบการเงิน ณ สิ้นปี พ.ศ. 2566 เพื่อไม่ให้กระทบผลการดำเนินงานในพ.ศ.2567

     ต่อมาไม่นานเกิด มรสุมลูกที่สอง ถือว่าสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง นั่นก็คือ "เหตุการณ์เพลิงไหม้ถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+" จำนวน 1 ถัง เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 เวลา 10.45 น. ของ "บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (MTT)" บริษัทย่อยในเครือ SCC ตั้งอยู่ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง แม้ทางเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในเวลา 16.35 น.ของวันเดียวกันได้ แต่พบว่า พนักงานผู้กล้าฝ่าเปลวไฟขึ้นไปปิดวาล์วเพื่อไม่ให้ถังเก็บแก๊สโซลีนระเบิด เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ อีก 5 ราย ความสูญเสียดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจต่อผู้ติดตามข่าวเป็นยิ่งนัก แม้ทาง MTT ออกมาย้ำชัดเจนว่าจะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกรายก็ตาม

    สำหรับ "สารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+" เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้(by product)จากการผลิตสารตั้งต้นเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกที่อยู่ในถังจัดเก็บดังกล่าวได้มีการแยกเบนซีน โทลูอีน มิกซ์ไซลีนออกหมดแล้ว ปัจจุบันสารนี้ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่างๆ(Solvent)

     แม้สถานการณ์ต่างๆดูเหมือนจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง รอเพียงเวลากลับมาดำเนินการตามปกติ แต่.. มรสุมที่สาม คลื่นลูกใหญ่ที่รอเวลาระเบิด นั่นก็คือ "เศรษฐกิจ" ที่ “ธรรมศักดิ์” ต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งและฟื้นผลงานของ 3 ธุรกิจ ทั้ง ธุรกิจปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์หลักทั้ง HDPE-Naphtha และ PP-Naphtha , ธุรกิจปูนซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (CBM) , ธุรกิจ Packagingในทุกมิติ หลังจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างหลายฝ่ายคาดหวัง พร้อมกับโลกที่ปรับวิถีรักษ์โลก แนวทาง ESG มากขึ้น ธุรกิจย่อมต้องปรับเปลี่ยนหมุนเวียนตามไปด้วย

     มรสุมต่างๆที่เกิดขึ้นอาจเทียบไม่ได้กับ วิกฤติที่ "SCC" เผชิญและฝ่าฟันมาตลอด 111 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจใน พ.ศ.2456

     แต่ถึงกระนั้น นี่อาจเรียกได้ว่า ปฐมบทของโลกยุคใหม่ ที่ค่อนข้างท้าทายฝีมือของทีมบริหารภายใต้การนำของ "ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม" จะสามารถโต้คลื่นความผันผวน โลกของธุรกิจยุคใหม่ การผกผันเรื่องดีมานด์ ซัพพลาย และการบริหารต้นทุนได้มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญความกล้าที่ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง หรือเพียงตั้งรับย่ำอยู่กับที่ นี่คือวิสัยทัศน์และสิ่งที่ต้องพิสูจน์ฝีมือกันต่อไป 

 

รู้จัก “โป้ง - ธรรมศักดิ์”

     นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม อายุ 54 ปี ดำรงตำแหน่ง กรรมการ , กรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด วันที่เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ 29 มีนาคม 2566

     คุณวุฒิการศึกษา/ประวัติการอบรม :
     - ปริญญาโท MBA , London Business School สหราชอาณาจักร (Distinction)
     - ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     - Management Development Program, The Wharton School, The University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา
     - Executive Development Program, Columbia University สหรัฐอเมริกา
     - Marketing for Management, Kellogg School สหรัฐอเมริกา
     - Innovation Management Program, Dupont สหรัฐอเมริกา
     - Advanced Management Program (AMP) Harvard Business School สหรัฐอเมริกา

     ความเชี่ยวชาญ : 
     - มีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลักของเอสซีจี การบริหารจัดการองค์กรระดับภูมิภาคและระดับโลก เศรษฐกิจและการลงทุน
     - มีบทบาทสำคัญในการการกำหนดนโยบาย การวางแผนกลยุทธ์ การมีวิสัยทัศน์ระดับโลก (Global Vision) การต่างประเทศ การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ (Crisis Management) การตลาดในประเทศ หรือต่างประเทศ (Market Insight)
     - มีความเชี่ยวชาญด้านบัญชี หรือ Financial Literacy การเงิน เช่น Financial Landscape/Payment System เทคโนโลยี/เทคโนโลยีสารสนเทศ/ Cybersecurity Digital Transformation การบริหารจัดการทุนมนุษย์ (Human Capital Management) การควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) การจัดการพลังงาน เช่น Renewable Energy สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Environmental, Social & Governance หรือ “ESG”) เช่น Decarbonization, การกำกับดูแลและการตรวจสอบ

     การอบรมหลักสูตรกรรมการ (4) :
     - Directors Accreditation Program (DAP) 159/2019 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
     - Directors Certification Program (DCP) 298/2020 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
     - หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)
     - หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)

     การดำรงตำแหน่งกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทอื่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (2) :
     - ตั้งแต่ 2561 กรรมการ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน)
     - ตั้งแต่ 2565 รองประธานกรรมการ และกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

     การดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่น/กิจการอื่น (2) :
     - ตั้งแต่ 2561 Commissioner, PT Chandra Asri Petrochemical Tbk, Indonesia*
     - ตั้งแต่ 2566 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.)
     หมายเหตุ: *บริษัทจดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย

     การดำรงตำแหน่งอื่นในเอสซีจี :
     - ดำรงตำแหน่งกรรมการ ในบริษัทย่อย บริษัทร่วม และบริษัทอื่น ๆ ของเอสซีจี ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตาม ที่ได้รับมอบหมาย

     ประสบการณ์ทำงาน 5 ปีย้อนหลัง และ/หรือตำแหน่งที่สำคัญ : 
     2547-2553 Business Development and Corporate Planning Director ธุรกิจเคมิคอลส์
     2551-2555 Deputy General Director, Long Son Petrochemicals Company Limited
     2555-2561 General Director, Long Son Petrochemicals Company Limited
     2561-2565 ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี
     2561-2565 กรรมการบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
     2562-2566 กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
     2564-2566 กรรมการ Harvard Business School Association of Thailand (HBSATh)
     2565-2566 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

     จำนวนการถือหุ้นสามัญของบริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) :
     - ของตนเอง: (ไม่มี)
     - คู่สมรส/บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ: (ไม่มี)

     ความสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างกรรมการและผู้บริหาร
     (ไม่มี)

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.