ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” ทองขึ้น 50 บาท
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.52 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 36.32-36.94 บาทต่อดอลลาร์) นับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันศุกร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวลดลง ตามรายงานเงินทุนสำรองของธนาคารกลางจีน (PBOC) ซึ่งสะท้อนว่า PBOC ได้ชะลอการเข้าซื้อทองคำ ก่อนที่เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลงเร็วและแรง หลังรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) สหรัฐฯ รวมถึงอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ออกมาสูงกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้นแรง ส่วนราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงหนัก (โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานก็ยังมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องท้ายสัปดาห์ จากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด กดดันให้ตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตาผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางทั้ง เฟด ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) โดยเราคาดว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาด ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างมุ่งความสนใจไปที่ คาดการณ์ดอกเบี้ย หรือ Dot Plot ใหม่ โดยเราประเมินว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากขึ้นจากการประชุมเดือนมีนาคม สะท้อนจากดัชนี Growth Surprise โดย Bloomberg ที่ลดลงต่อเนื่อง อาจส่งผลให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่จะสนับสนุนการลดดอกเบี้ยลงราว 2 ครั้งในปีนี้ (ลดลงจาก 3 ครั้งใน Dot Plot เดือนมีนาคม) ขณะที่การลดดอกเบี้ยในปีหน้าอาจอยู่ที่ราว 3-4 ครั้ง และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาว (Longer Run) ก็อาจอยู่แถวระดับ 2.6% ซึ่งสะท้อนว่า เฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อ หรือการจ้างงานชะลอลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคม (รับรู้ก่อนผลการประชุม FOMC) ซึ่งหากชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ได้
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเรามองว่า โทนการสื่อสารอาจมีลักษณะ Neutral-Slightly Dovish ได้ ดังนั้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ Dot Plot ใหม่ของเฟด และการสื่อสารของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงบ้าง หลังปรับตัวขึ้นเร็วและแรงในวันศุกร์ก่อนหน้า จากรายงานยอดการจ้างงานที่ออกมาดีกว่าคาด
▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานของอังกฤษ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและทยอยชะลอตัวลงอาจทำให้ BOE ยังไม่รีบลดดอกเบี้ย คล้ายกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลอัตราการเติบโตของค่าจ้างอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแรงกดดันต่อแนวโน้มเงินเฟ้อจากค่าจ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งในปีนี้ (ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนและธันวาคม)
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ในการประชุมครั้งนี้ BOJ อาจยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทว่า BOJ อาจส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็คาดหวังว่า BOJ อาจเริ่มทยอยปรับลดปริมาณการซื้อบอนด์ในการประชุมครั้งนี้ และส่งสัญญาณชัดเจนว่าพร้อมทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป หลังอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมาย 2% ของ BOJ ได้อย่างยั่งยืน ส่วนทางฝั่งธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงเข้าใกล้ระดับ 2% มากขึ้น คลายความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ CBC ขึ้นดอกเบี้ย +12.5bps เซอร์ไพรส์ตลาดในการประชุมเดือนมีนาคม
▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับคาดการณ์ของทาง กนง. อย่างไรก็ดี กนง. อาจเปิดกว้างได้ว่า (optionality) หากเศรษฐกิจชะลอลงกว่าคาดไปมาก (ซึ่งอาจสะท้อนจากโมเมนตัมเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาด) เช่น การเบิกจ่ายภาครัฐมีปัญหา ภาคการส่งออกยังคงซบเซากว่าคาด รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายชัดเจน ก็อาจทำให้ กนง. ยังสามารถพิจารณาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงประเมินว่า กนง. มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าได้กลับมาอีกครั้ง เปิดโอกาสเงินบาททดสอบโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ และเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบจุดสูงสุดของปีนี้ แถว 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ควรจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงเตรียมรับมือความผันผวนของค่าเงินบาทจากราคาทองคำและฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจยังไม่รีบกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทย จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะขึ้นกับรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ ทั้งนี้ ทิศทางของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจส่งผลต่อเงินดอลลาร์ได้พอสมควร โดยควรระวังในกรณีที่ตลาดผิดหวังต่อผลการประชุม BOJ ซึ่งสามารถกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงหนักได้ (เช่น อ่อนค่าลงทดสอบโซน 157-158 เยนต่อดอลลาร์)
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.30-37.25 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.00 บาท/ดอลลาร์
ราคาทองคำ
ขณะที่ ราคาทองวันนี้ 10 มิ.ย. 2567 ตามประกาศสมาคมค้าทองคำ เวลา 09. 01 น. (ครั้งที่ 1) ราคาทองคำขึ้น 50 บาท ส่งผลให้ราคาทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ มีราคาดังนี้
ราคาทองคำแท่ง
รับซื้อ 40,100.00 บาท
ขายออก 40,200.00 บาท
ราคาทองรูปพรรณ
รับซื้อ 39,385.68 บาท
ขายออก 40,700.00 บาท
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.