ผลประชุมFOMCก.ย.นี้ยังยึดดอกเบี้ยเฟดเท่าเดิมหุ้นไทยแตะ1,580 -1,600 จุด

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาททยอยแข็งค่า หลังอ่อนค่าลงช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงน่าจะมีแรงกดดันบางส่วนจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลง หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด (อาทิ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเดือนก.ค. และการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนส.ค.) ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดอาจยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบเดิมที่ 5.25-5.50% ในการประชุม FOMC เดือนก.ย. นี้     

ทั้งนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบลงในช่วงปลายสัปดาห์ เพราะแม้จะมีแรงหนุนจากสัญญาณการดูแลเงินหยวนของทางการจีน (ธนาคารกลางจีนประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองสำหรับสกุลเงินตราต่างประเทศ และประกาศอัตราอ้างอิงเงินหยวนประจำวันแข็งค่ากว่าระดับที่ตลาดประเมินไว้) แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีแรงกดดันจากแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 1 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.01 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 35.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ส.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 28 ส.ค.–1 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,263 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 6,523 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,867 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 656 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (4-8 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนส.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย ตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค. ของจีน และดัชนี PMI ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ระดับ 1,579.43 จุดช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบกับมีแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยหลังข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางแรงเทขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นำโดย หุ้นกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้ ข่าวการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบจ. บางแห่งก็มีส่วนกดดันบรรยากาศการลงทุนช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน     
ในวันศุกร์ที่ 1 ก.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,561.51 จุด เพิ่มขึ้น 0.08% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,542.49 ล้านบาท ลดลง 3.59% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.55% มาปิดที่ระดับ 484.59 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,540 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,600 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค.ของไทย สถานการณ์การเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการบริการเดือนส.ค. ตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขส่งออกเดือนส.ค.ของจีน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.