RATCH ชูธงพลังงานทดแทนครึ่งปีหลังดันกำลังผลิต 10,000 MW

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า การดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในพอร์ตของ NREI และ RAC รวม 9 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,116.98 เมกะวัตต์ 

โดย 4 โครงการ ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของบริษัทฯ ประกอบด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง และโครงการพลังงานลมบนชายฝั่ง และในทะเล อีก 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 550 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโครงการพลังงานน้ำและลมในเวียดนามอีก 2 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 65.15 เมกะวัตต์ 

และอีก 3 โครงการในออสเตรเลีย ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 502 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทได้แสวงหาโอกาสต่อยอดการลงทุนและประสานความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจชั้นนำในการขยายฐานธุรกิจในตลาดเดิม ได้แก่ ไทย สปป.ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย ทั้งในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและนอกภาคการผลิตไฟฟ้า โดยพิจารณาการลงทุนผสมผสานทั้งโครงการประเภท Greenfields หรือ Brownfields รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้ว เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสมดุลและอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ยอมรับได้      

“ในปีนี้บริษัทประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ โดยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์คาลาบังก้า กำลังการผลิตติดตั้ง 74 เมกะวัตต์สูงสุด อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำหนดจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 67 ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ร้อยละ 85 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทในเครือของ AboitizPower, AP Renewables และ Aventenergy นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์สูงสุด รวมทั้งโครงการพลังงานลมบนชายฝั่งอ่าวซานมิเกล และโครงการพลังงานลมในทะเล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 400-450 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 68 ปี70 และ ปี71 ตามลำดับ 

ส่วนในออสเตรเลียได้เริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์สูงสุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 68 

นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินการศึกษาเพื่อหาลู่ทางการลงทุนในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพสามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ ตลอดจนโครงการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก กอปรกับบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอยู่หลายแห่งจึงถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ อีกทั้งยังจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ.2593)ได้เป็นอย่างดี” นางสาวชูศรี กล่าว                

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการบริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ เพื่อสร้างการเติบโตและความมั่นคงของรายได้ โดยกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่นในประเทศไทย ได้มุ่งเน้นด้านการตลาดเพื่อเพิ่มลูกค้าอุตสาหกรรมซื้อไฟฟ้าและไอน้ำให้เต็มกำลังการผลิตที่มีอยู่ ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ จะเน้นที่การรักษาประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายรองรับคำสั่งเดินเครื่องของลูกค้า บริหารจัดการเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ 

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำและติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเมินความเสี่ยงและบริหารการผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามสัญญา ปัจจุบัน โครงการที่กำลังพัฒนาและก่อสร้าง ซึ่งจะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 66-76 รวม 20 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 2,933.39 เมกะวัตต์

ด้านการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกในปีนี้ บริษัทกำหนดแผนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี 3 แนวทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การขยายการลงทุนในธุรกิจสีเขียว และการชดเชยและซื้อ-ขายคาร์บอน ซึ่งแต่ละแนวทางได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางในปี 2030 ไว้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย การลดปริมาณความเข้มข้นของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้า (GHG Intensity) ให้ได้ 15% เทียบกับปีฐาน 2566  การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้ถึง 30% และเป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากป่าไม้ (คาร์บอนเครดิต) ให้ได้ 1% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด โดยบริษัทฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว
 
อนึ่ง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรก (วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566) เป็นเงินปันผลจ่ายระหว่างกาลจำนวน 1,740 ล้านบาท คิดเป็น 0.80 บาทต่อหุ้น ตามกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลระหว่างกาล (Record Date) ในวันที่ 4 กันยายน 2566 โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 กันยายน ศกนี้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.