KTC แจ้งงบไตรมาส 1/67 กำไรสุทธิ 1,803 ล้าน ลดลง 3.7% พอร์ตสินเชื่อขยายตัว 2%
นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,803 ล้านบาท ลดลง 3.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 1,872 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาสก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 1,761 ล้านบาท
“ภาพรวมการดำเนินงานของเคทีซีในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจมีความอ่อนตัวลงมากกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม เคทีซียังสามารถทำกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมได้เท่ากับ 1,803 ล้านบาท และงบการเงินเฉพาะกิจการ 1,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.4% และ 7.4% ตามลำดับ” นางพิทยา กล่าว
โดยเชื่อว่ากลยุทธ์การสร้างฐานลูกค้าบัตรเครดิตในกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น รวมทั้งการคัดกรองคุณภาพพอร์ตทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งมีการสื่อสารเชิงรุกถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในผลิตภัณฑ์สินเชื่อเคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน จะสามารถทำให้เคทีซีบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในที่สุด
ในส่วนของรายได้รวมช่วงไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 6,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวม 6,055 ล้านบาท ทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) รายได้ค่าธรรมเนียม และหนี้สูญได้รับคืนที่เพิ่มขึ้น 5.4%, 14.7% และ 26.7% ตามลำดับ
ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 20.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 4,504 ล้านบาท ตามการขยายตัวของปริมาณธุรกรรม พอร์ตสินเชื่อรวม และการลงทุนพัฒนาระบบงาน รวมถึงมูลค่าการตัดหนี้สูญที่มากขึ้นจากการเปลี่ยนกรอบเวลาการตัดหนี้สูญให้เร็วขึ้น เพื่อให้พอร์ตสินเชื่อรวมหลังสิ้นสุดการใช้เกณฑ์ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ NPL สะท้อนภาพความเป็นจริงมากขึ้น
โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร 2,369 ล้านบาท ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) 1,683 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 451 ล้านบาท โดยมีอัตราค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ที่ 35.0% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 32.8%
ทั้งนี้ สินทรัพย์เคทีซี ณ วันที่ 31 มี.ค.2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน พอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัวสร้างรายได้เติบโตดี และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี โดยมีฐานสมาชิกรวม 3,423,147 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 105,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) 2.0%
แบ่งเป็นสมาชิกบัตรเครดิต 2,695,453 บัตร เพิ่มขึ้น 4.0% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 69,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรมูลค่า 69,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5%
สมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 727,694 บัญชี ลดลง 2.6% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 33,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.1%
และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าใน บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) 2,985 ล้านบาท ลดลง 9.6% เนื่องจากได้หยุดปล่อยสินเชื่อใหม่ตั้งแต่เดือน ส.ค.2566 แล้ว ในส่วนยอดลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 611 ล้านบาท ขยายตัว 82.6%
“อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคเติบโตแบบชะลอตัว ด้วยแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ในเดือน มี.ค.2567 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสะท้อนภาพรวมความเชื่อมั่นในเกณฑ์ดี โดยเคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เทียบกับอุตสาหกรรม ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 เท่ากับ 13.2% และ 6.1% ตามลำดับ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของเคทีซีเท่ากับ 12.4%” นางพิทยา กล่าว
ทั้งนี้ เคทีซีได้ดำเนินการปรับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 8% ซึ่งมีผลในรอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 นั้น ในช่วงไตรมาส 1/2567 พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ของเคทีซีสามารถจ่ายชำระขั้นต่ำที่ 8% ได้ มีเพียงลูกหนี้ส่วนน้อยที่ประสบปัญหา
นอกจากนี้ เคทีซีจะนำเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL) ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive DR) ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังจะประสบปัญหาในการชำระหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ ไม่กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL)
อีกทั้งจะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์ โดยจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และไม่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้เดิมเกินสมควร ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. ที่ สกช. 7/2566 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL)
โดยเคทีซีเชื่อมั่นว่าการให้ความช่วยเหลือตามเกณฑ์ดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการดำเนินงานของบริษัท และสำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2567 คาดว่าหากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการจะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยลดลงประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.2567 กลุ่มบริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 59,344 ล้านบาท โดยมีโครงสร้างแหล่งเงินทุนเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น (รวมส่วนของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) และเงินกู้ยืมระยะยาว คิดเป็นสัดส่วน 23.3% ต่อ 76.7% อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.83 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ 2.0 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพัน (Debt Covenants) ที่ 10 เท่า และมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) 24,990 ล้านบาท
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.