สัญญาณเตือนเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจไทยยังเผชิญความท้าทาย แรงกดดันเพิ่มขึ้น
รายงานธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Report: IBR) จัดทำโดยแกรนท์ ธอนตัน สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งวัดความเชื่อมั่นของผู้นำธุรกิจตลาดขนาดกลาง แสดงให้เห็นมุมมองทางธุรกิจโดยรวมทั่วประเทศไทยลดลงอย่างมากจากแรงกดดันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมุมมองในเชิงลบที่เพิ่มขึ้นต่อภาคเอกชน กำลังผลักดันให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก โดยรายงานฉบับนี้แกรนท์ ธอนตันรวบรวมผลสำรวจ และการสัมภาษณ์จากธุรกิจขนาดกลางในตลาด โดยวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของตลาดผ่านแนวโน้มและสภาวะทางธุรกิจที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 12 เดือนที่จะมาถึง
ผลการรายงาน IBR สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 เผยให้เห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญจากแนวโน้มความเชื่อมั่นเชิงบวกในหมู่ผู้นำธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจที่ผ่านมา ความคาดหวังที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังจากวิกฤตโควิดได้ผ่านพ้นไปลดลงอย่างน่าสังเกต อย่างน้อยในขณะนี้เราได้เห็นถึงภาพสะท้อนที่น่าสะเทือนใจของปัญหาต่างๆนาๆที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ ตลาดส่งออกที่ถูกจำกัดลง ประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลง และจำนวนแรงงานที่มีอายุมากขึ้นและจำนวนลดลง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มที่อันตราย
คะแนนของสุขภาพธุรกิจขนาดกลางระดับโลกในช่วงเวลาปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ไปยังระดับ 3.8 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเศรษฐกิจระดับโลกหลังจากติดลบมาตลอดสิบสองเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเลขระดับโลกเหล่านี้จะทำให้ใจชื้นได้บ้าง แต่ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าเริ่มเกิดปัญหาในระดับภูมิภาค โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอาเซียนรายงานถึงการลดลงของตัวชี้วัดทั้งในเชิงมุมมองและข้อจำกัด รวมทั้งผลรวมคะแนนสุขภาพธุรกิจปัจจุบันของเอเชียแปซิฟิกตอนนี้อยู่ที่ 0.4 ในขณะที่อาเซียนลดลงไป 2 เหลือ 7.9
คะแนนสุขภาพธุรกิจของประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลง 5 คะแนนจากช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ 9.3 ตัวเลขทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศการลงทุนที่แย่ลง สภาวะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และมุมมองบวกต่อธุรกิจโดยรวมลดลงอย่างฉับพลัน
แม้ภาพรวมตัวเลขจะดูไม่สดใส แต่ข้อจำกัดของธุรกิจขนาดกลางในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น ข้อจำกัดเรื่องการจัดหาและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เคยถูกมองว่าเป็นอุปสรรคที่ไม่สำคัญมากเท่าที่เคยเป็นในช่วงเดือนก่อนหน้านี้ ตัวเลขดีขึ้นตามลำดับจาก 1 ไป 3 คะแนน โดยการคลี่คลายคลายความตึงเครียดทางการเมืองน่าจะมีส่วนช่วยให้มีภาพรวมและมุมมองที่ดีขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วย ยังไม่รวมถึงมุมมองทางเศรษฐกิจที่ตกลงอย่างฉับพลันถึง 10 คะแนน ที่ดึงให้คะแนนสุขภาพธุรกิจของประเทศไทยลดลง
ยังโตได้ยาก
เมื่อวิเคราะห์จากผลการสำรวจอย่างเจาะลึก เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจที่คาดว่าจะมีการพัฒนามุมมองเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ช่วง 12 เดือนที่จะมาถึงนี้ ได้ผันผวนอย่างมาก จาก 54% ในครึ่งปีหลังของปี 2565 กระโดดขึ้นไปยัง 72% ในครึ่งแรกของปี 2566 และหลังจากนั้นลดลงเหลือ 55% ในครึ่งหลังของปี 2566 ตอกย้ำและขับเคลื่อนมุมมองเชิงลบต่อสุขภาพธุรกิจ และลดระดับคะแนนความมั่นใจของประเทศสู่ระดับคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก แม้จะเพิ่งขึ้นไปแตะที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อหกเดือนก่อน
ความเชื่อมั่นที่ลดลงมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงกับรายงานตัวเลข GDP ประจำปี ซึ่งคาดว่าจะต่ำกว่าการคาดการณ์ของกระทรวงการคลังที่ 2.8% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของภาคการผลิตและการส่งออก การเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1.8% ในปี 2566 ปัจจัยอื่นๆจากภาคเอกชนในประเทศไทย รวมถึงยอดการชำระหนี้ที่มีนัยสำคัญ และอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นที่อัตรา 8.44% ต่อปี ก็มีส่วนทำให้มุมมองเชิงบวกลดลง
ในช่วงเวลาเดียวกัน คะแนนด้านรายได้ของประเทศไทยลดลง (จาก 73% ในครึ่งแรก ปี 2566 ไปยัง 58% ในขณะนี้) คาดการณ์กำไรต่ำลง (จาก 82% ไปยัง 79%) และส่งออกก็เช่นกัน (จาก 46% ไปยัง 42%) ในส่วนของความตั้งใจที่จะลงทุนในอนาคต และคะแนนการจ้างงานก็ลดลง (จาก 52% ไปยัง 37%) เช่นเดียวกับการลงทุนในทักษะของพนักงาน (จาก 59% เหลือ36%) และการลงทุนในเทคโนโลยี (จาก 60% ไปยัง 47%) ในขณะที่คะแนนตัวชี้วัดเหล่านี้ของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มสูงขึ้นเป็นที่น่าประทับใจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของอาเซียนสูงกว่าคะแนนของประเทศไทย
จากภาพสามารถอธิบายได้ว่า เกิดจากขาดแคลนนวัตกรรมที่มีอยู่ในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งเป็นพัฒนาการที่น่าเป็นห่วงที่ควรกระตุ้นให้รัฐบาลไทยลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น เสริมสร้างทักษะของแรงงาน และสร้างภูมิทัศน์การแข่งขันที่แข็งแกร่งในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า หลายคนในแวดวงธุรกิจมีความเห็นคล้ายกันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้อยุ๋ในปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสำรวจถูกสอบถามถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลสำหรับบุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งออกแบบมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในบรรดาผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 104 คน มี 27 คนที่มีมุมมองเป็นลบ ในขณะที่มีเพียง 17 คนเท่านั้นที่มีมุมมองเป็นบวก ที่เหลือซึ่งเกินกว่าครึ่งของจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดแสดงท่าทีเป็นกลาง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีอยู่อย่างจำกัดต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่มีแผนจะใช้ในปี 2567
ข้อจำกัดที่ยังคงมีอยู่
ท่ามกลางตัวชี้วัดด้านข้อจำกัด ซึ่งคะแนนที่ต่ำบ่งบอกถึงประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่เป็นสัดส่วนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคและระดับโลก โดยคะแนนรวมอยู่ที่ 47% (ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า) ข้อจำกัดอื่นๆที่คลายลงต่อการเติบโตของธุรกิจระดับกลางในประเทศไทย รวมถึงกฎระเบียบและขั้นตอนที่ยุ่งยากต่างๆ (จาก 32% เป็น 28%) การขาดสภาพคล่อง (21%) และต้นทุนด้านพลังงาน (จาก 44% เหลือ 39%)
แม้ว่าระดับความกังวลต่อประเทศไทยจะยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกและระดับภูมิภาค แต่ความคาดหวังเกี่ยวกับความพร้อมของแรงงานที่มีฝีมือ (24% ในขณะนั้น 26% ในขณะนี้) กลับแย่ลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งบ่งชี้ถึงความตระหนักที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางประชากรศาสตร์ไปสู่สังคมสูงวัย และความท้าทายที่เกี่ยวข้อง ตัวเลขเหล่านี้ยังบ่งบอกถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เพิ่มขึ้น อันเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของธุรกิจ ซึ่งกลับแซงหน้าและไม่สัมพันธ์กับความพร้อมของบุคลากรที่ยังขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการใช้มันอีกด้วย
จากการตอบแบบสำรวจ ความตั้งใจในการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางในตลาดกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ผิด การลดลงอย่างเห็นได้ชัดในความตั้งใจที่จะลงทุนในทักษะของพนักงาน เทคโนโลยี รวมถึงโรงงานและเครื่องจักร ซึ่งทั้งหมดนี้ลดลงกว่า 10เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดภาพเศรษฐกิจไทยที่คล้ายกับเปลวไฟที่กำลังมอดและสูญเสียแสงสว่างไป มุมมองเชิงลบที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของประเทศเพื่อนบ้านอาจผลักดันประเทศไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูให้กลายเป็นผู้ตามหลัง เห็นได้ชัดว่าธุรกิจในประเทศไทยต้องจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนเชิงกลยุทธ์ทางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาแรงงาน ในขณะที่รัฐบาลต้องทบทวนและดำเนินนโยบายทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและเติบโตไปอย่างยั่งยืน
รายงานครึ่งหลังของปี 2566 มาจากการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้นำธุรกิจระดับกลางประมาณ 4,900 รายทั่วโลก รวมถึง104 รายในประเทศไทย การสัมภาษณ์เหล่านี้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนปี 2566 และมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้มากกว่าสภาวะปัจจุบัน คะแนนด้านสุขภาพทางธุรกิจ ถูกพิจารณาจากผลรวมถ่วงน้ำหนักของคำตอบเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งผลลัพธ์จะอยู่ในช่วงระหว่าง -50 ถึง +50 ผลลัพธ์สำหรับภาวะธุรกิจและความตั้งใจที่จะลงทุนในอนาคตถูกให้คะแนน โดยเปอร์เซ็นต์ของธุรกิจที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนต่อจากนี้ผลลัพธ์เกี่ยวกับข้อจำกัดของธุรกิจถูกให้คะแนนโดยเปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่าอยู่ในระดับ 4 ถึง 5 จากเกณฑ์การให้คะแนน 1-5 โดยที่ 5 คือข้อจำกัดหลัก และขอขอบคุณ Oxford Economics สำหรับความช่วยเหลือในการวิเคราะห์และแปลผลที่นำเสนอนรายงานฉบับนี้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.