เงินบาทวันนี้ที่36.60-36.80เปิดเช้าอ่อนลงอยู่36.73บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยแนวโน้มเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และประเมินกรอบ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

สำหรับค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.73 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.71 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.63-36.76 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ และจังหวะแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ย หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืน เฟดไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านที่ประเมินไว้ แถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ (เวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย)  เนื่องจาก ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้ง ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง รวมถึงการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ที่กดดันเงินบาทผ่าน แนวโน้มการขาดดุลการค้าที่อาจเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าพลังงาน รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ที่อาจทำให้เฟดยิ่งไม่รีบลดดอกเบี้ย และทำให้เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุน

นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยได้บ้าง แต่ยังมองว่า แรงขายหุ้นไทยอาจไม่ได้รุนแรง เพราะนักลงทุนต่างชาติได้ขายมาอย่างต่อเนื่องไปพอสมควร อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ก่อน ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ เราคาดว่า การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนหน้า อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน กลับเข้าซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับรายงานอัตราเงินเฟ้อของไทย ว่าจะเป็นอย่างไร 

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นใกล้โซน 151 เยนต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ทำให้ เงินเยน (JPYTHB) ปรับตัวขึ้นเหนือโซน 24 บาทต่อ 100 เยน อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายเงินเยนได้บ้าง ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ นอกจากนี้ ในช่วงโซน 36.75 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นไป เรายังเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดอยู่ ทำให้เงินบาทอาจยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่ประเมินไว้ หากไม่มีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เพราะหากข้อมูลออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ก็จะส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก ซึ่งจะกดดันทั้งราคาทองคำ และเงินบาท โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทะลุโซน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ และการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างรวดเร็ว

ในทางกลับกัน หากผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง เราคาดว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เพราะผู้เล่นในตลาดอาจต้องการรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้าอยู่ ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทก็อาจยังอยู่แถว 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเดินหน้าลดความเสี่ยง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งย้ำจุดยืนว่า เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย ก็มีส่วนทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและเลือกที่จะเทขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ Nvidia -3.4% ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานยังพอปรับตัวขึ้นได้บ้าง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -1.23%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.16% หนุนโดยรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการที่ออกมาดีขึ้นจากรายงานก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างก็มีความหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -0.4%, Hermes -0.5% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ กอปรกับ มุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ก็มีส่วนกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.30% ทั้งนี้ มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ระยะยาวอื่นๆ) มีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงได้ในวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

หากออกมาดีกว่าคาด หรือยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ยังอยู่ในระดับสูงเกิน 2.5 แสนราย ก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอยู่ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นทดสอบโซน 4.40% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สู่ระดับ 4.30%-4.40% หรือเกินกว่านั้น ก็จะยิ่งทำให้ Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อสะสมได้ (Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ท่ามกลางถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่ต่างย้ำจุดยืนว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.9-104.3 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำเป็นไปอย่างผันผวน โดยแม้ว่า ราคาทองคำจะพอได้แรงหนุนจากจังหวะย่อตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ บ้าง ทว่า การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ก็กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทั้งจังหวะซื้อทองคำตอนย่อ และขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด จะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยเฉพาะถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะมีกำหนดในช่วงหลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพื่อประเมินว่า เจ้าหน้าที่เฟดจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟดอย่างไรบ้าง หลังรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ  

ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมีนาคม เพื่อประเมินแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงความเป็นไปได้ของการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.