"EA" ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ "EV Ecosystem" เร่งเครื่องเติบโตยั่งยืน
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10กว่าปีก่อน "EA" เริ่มต้นธุรกิจจากไบโอดีเซล ที่ผลิตได้จากน้ำมันพืชและไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันปาล์มดิบ(Crude Palm Oil : CPO) น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์(Refined Bleached Deodorised Palm Oil : RBD) สเตียรีน(Stearine)นำมาทำปฏิกิริยาทางเคมีที่เรียกว่าปฏิกิริยาทรานส์เอสเตอริฟิเคชั่น(Transesterification Process)ของไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride)ที่อยู่ในน้ำมันพืชและไขมันสัตว์ ร่วมกับแอลกอฮอล์ เช่น เมทานอลจนเกิดเป็นสารเอสเตอร์(Ester)ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลจนสามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้โดยตรง เรียกว่า ไบโอดีเซล(B100) ซึ่งหมายถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีไบโอดีเซลอย่างเดียวสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลได้
นอกจากนี้ EA ยังทำพลังงานหมุนเวียน คือ "ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม" เราโชคดีที่เห็นโอกาสที่ตอนแรกไม่มีใครเห็นและจึงมีการเติบโตได้เร็ว แต่ด้วยตลาดนี้ค่อนข้าง Red Ocean เป็นตลาดที่มีคู่แข่งค่อนข้างเยอะ แม้เราจะสามารถทำต่อได้ มีเมกะวัตต์เพิ่มขึ้นได้ แต่มาร์จิ้นต่ำมาก ด้วย ค.ศ.2015-2016 ที่เราคิดเมื่อ 8-9 ปีก่อน ณ วันนั้นเราจึงเริ่มทำธุรกิจที่เรียกว่า "Commercial EV Ecosystem"
โดยมี "บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (AMT)" เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทันสมัย มีพื้นที่ 80,000 ตารางเมตร หรือกว่า 91 ไร่ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม บลูเทคซิตี้ มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ และเตรียมตั้งอีก 11 โรงงานเพื่อรองรับกำลังผลิตแบตเตอรี่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
ซึ่ง โรงงาน AMT จะผลิตแบตเตอรี่ชนิดผง เริ่มตั้งแต่นำสารเคมีมาผสมกวนในถังอลูมิเนียม จะได้สารเคมีของเหลวสีดำที่จะนำไปเคลือบบนแพลตฟอร์ม จากนั้นนำไปตัดขึ้นรูปประกอบตามขนาดที่ต้องการ เสร็จแล้วนำไปประกอบเป็นโมดูล ซึ่งยังใช้งานไม่ได้ ต้องนำไปประกอบเป็นแพคก่อนถึงจะใช้งานได้ พอได้แบตเตอรี่ตามที่ต้องการจะส่งไปยัง "โรงประกอบ AAB" เพื่อใส่ในรถไฟฟ้าต่างๆ
AAB ครบวงจรที่สุด
"บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB)" เป็นโรงงานผลิตและประกอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทุกประเภท ทั้ง รถหัวลาก , หัวรถจักร , รถเมล์ , รถทัวร์ , รถบรรทุกขนาดเล็ก , เรือ , รถกระบะ เป็นต้น ทำครบวงจรนับตั้งแต่การผลิต, ประกอบ, จัดจำหน่าย ตลอดจนการขายและให้บริการหลังการขาย บนพื้นที่ 55,000 ตารางเมตร กำลังการผลิต 3,000-5,000 คันต่อปี
"ปัจจุบันมีเรือไฟฟ้า ให้บริการจำนวน 32 ลำ ขณะที่นิวส์โปรดักส์ คือหัวรถจักรรถไฟอีวี วิ่งระยะทาง 200 กิโลเมตร หากนำแบตเตอรี่ติดไปด้วยจะสามารถวิ่งได้ 400 กิโลเมตร และสามารถถอดแบตฯเพื่อเปลี่ยนได้ทันที"
ภายใน "โรงงาน AAB" เริ่มตั้งแต่นำเหล็กมาเชื่อมขึ้นโครงของรถตามขนาดที่ต้องการด้วย "เครื่องพลาสมาเลเซอร์" จากนั้นนำโครงรถที่ได้ไปทำความสะอาดคราบฝุ่นหรือสิ่งสกปรกต่างๆก่อนที่จะนำไปลง "บ่อชุบสารกันสนิม (ETP)" ไฮไลต์คือเป็นบ่อชุบ ETP ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีที่นี่ที่เดียว สามารถนำรถบัสความยาว 12 เมตรลงไปชุบสารได้ทั้งคัน โดยเรามีทั้งหมด 12 บ่อ มูลค่าราว 20 ล้านบาทต่อบ่อ
พอชุบสาร ETP เสร็จแล้ว จากนั้นจะนำโครงรถที่ได้มา "พ่นสีด้วยโรบอท" เพื่อความสม่ำเสมอของสีและประหยัดเวลา ขั้นตอนนี้จะใช้คนน้อยมาก พอพ่นสีเสร็จจะนำไปรถส่งไปยัง "ลานประกอบ" ฉีดพียูทำหน้าที่ซอฟท์เรื่องเสียง เวลาฝนตกกระทบและความร้อน จากนั้นจะนำไปเก็บปูพื้นและปูทับด้วย PVC ผิวสวยอีกชั้น ซึ่งในมาตรฐานข้อกำหนดการขนส่งจะกำหนดชัดว่าวัสดุใดต้องผ่านมาตรฐานการลามไฟ เป็นต้น และประกอบใส่แบตเตอรี่ รวมถึงเครื่องใช้ต่างๆ
หลังจากประกอบเสร็จแล้ว รถจะถูกส่งไป "ทดสอบระบบ" ทั้งอัตราการเร่ง อัตราการเบรก มีการอัดน้ำเข้าไปเพื่อดูว่ามีน้ำรั่ว น้ำซึมตรงจุดไหนหรือไม่ พร้อมทดสอบการขับขึ้นเนินลงเนิน ขับบนพื้นผิวขรุขระ และการขับลงน้ำ เป็นต้น จากนั้นจะมีการส่งมอบรถไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า
เดินหน้า EV Ecosystem
นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการ โครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ธุรกิจที่เรียกว่า "Commercial EV Ecosystem" ประกอบด้วย EA อยู่ข้างบน ส่วนข้างล่างจะมี 4 กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวโยง คือ 1.โรงงานผลิตแบตเตอรี่ อีก 3 เดือน จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เงินลงทุนราวกิกะวัตต์ละ 1,000 - 2,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี และปีหน้าจะค่อยๆขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตามการเติบโต
EA ถือเป็นรายแรกรายเดียวในไทยที่ผลิตตั้งแต่ระดับเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่ง 60-70% ของต้นทุนคือเซลล์ ต่างจากการลงทุนระดับโมดูลหรือแพ็คที่น้อยมาก ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนระดับเซลล์แบตเตอรี่มากกว่า
“ธุรกิจแบตเตอรี่ถือเป็นตลาดใหญ่ทั้งด้านพลังงานและขนส่ง ประเทศต้องการลดการปล่อยคาร์บอนปี ค.ศ. 2030 ลง 40% หรือ 222 ล้านตันคาร์บอน จำเป็นต้องลด 70% จากภาคพลังงานและขนส่ง ตรงนี้จะตอบโจทย์ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลอย่างไรเรื่องนี้จะต้องทำต่อ ซึ่งเรามีรถบัส EV กว่า 2-3 พันคัน เรือ 30-40 ลำ ปีที่แล้วขายกระบะ EV รองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีได้เยอะขึ้น”
อีกทั้งบริษัทมีแผนตั้ง "โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่" จากการที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคมีพื้นที่ราว 2 พันไร่ สามารถแบ่งพื้นที่มาทำอุตสาหกรรมที่ไม่มีเครื่องจักรได้ ปัจจุบันใช้รถขนดินเป็น EV ทั้งหมด จึงจะขยายทั้งซัพพลายเชนบริษัทที่ใช้เครื่องจักรในไทยช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศ เบื้องต้นอาจจะเริ่มจากการลงทุนโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ NMC ก่อนเพราะรถ EV ส่วนใหญ่เป็น NMC จึงขอเวลาศึกษาอีก 2 เดือน เพราะการทำโรงงานรีไซเคิลมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ
2. โรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่ง EA ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เพราะการที่มาก่อนและจะให้คอมเมอร์ชเชียลในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนดีที่สุด ดังนั้น เมื่อมีเรื่องของภาษีเข้ามา บริษัทสามารถโมดิฟายต้นทุนที่ออกมาได้ เพราะผลิตในประเทศ อีกทั้ง รถอีวีเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยมีจำนวน 1.4 ล้านคัน เปลี่ยนใหม่ 1 แสนคันต่อปี เป็นจำนวนที่มหาศาล ตลาดใหญ่ ปัจจุบันคาร์ปาซิตี้โรงงานอยู่ที่ 9,000 คันต่อปี ซึ่งปีที่แล้วผลิตในระดับ 3,000-4,000 คัน
3. สถานีชาร์จ EV ปัจจุบันมี 500-600 สถานี 4,000 หัวจ่าย จากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 80% วันนี้อยู่ที่ 40% แต่ปริมาณไฟที่ชาร์จ 80-90% ของประเทศ เพราะซัพพอร์ทอุตสาหกรรมไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งรถและเรือ เป็นต้น ซึ่ง EA มีมีเทคโนโลยี Ultra-Fast Charge รองรับการชาร์จยานยนต์ EV ขนาดใหญ่ในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ เหมาะสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด
4. ไทย สมายล์ กรุ๊ป ซึ่งได้ใบอนุญาติเดินรถ 140 เส้นทาง ถือว่าครอบคลุมทั้งรถและเรือ เรียกว่าครบระบบ Ecosystem
"เราเห็นอนาคต EA จึงลงทุนในอมิตาไต้หวัน ถือหุ้น 71.2% แล้วมาขยายทำ AAB ในไทย อีก 3 เดือนจะเห็นกำลังการผลิตแบตฯเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี จากนั้นจะขยายเป็น 8 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เทรนด์จากนี้ทั้งการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น ต้องมีการสำรองไฟฟ้า เทรนด์ energy storage จะเกิดขึ้น ตอนนี้ทำแบต NMC แต่ปีหน้าขยาย LFP เพิ่ม เรามี Ultra fast charge ภายใน 15นาที และกำลังศึกษาการนำแบตฯเก่ามารีไซเคิลเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด เรามีโรงประกอบรถอีวีแบบครบวงจร และมีไทยสมายให้บริการเดินรถนี่คือความตั้งใจและในอนาคตก็จะขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง"
อย่างไรก็ดี "นิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้" อยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อรองรับนักลงทุนรายอื่นๆที่สนใจ หรือ ซัพพลายเออร์ต่างประเทศให้มาตั้งโรงงานผลิต เป็นต้น คาดใช้งบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.