กทม. จ่ายหนี้ บีทีเอส 2.3 หมื่นล. ราชกิจจาฯประกาศ มีผล 13 มี.ค.67
วันนี้ ( 13 มี.ค.2567) ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 จำนวน 23,488,692,200 บาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 สภากรุงเทพมหานคร ได้ลงมติ 44 เสียง เพื่ออนุมัติจ่ายเงินภายใน 2 เดือน ซึ่ง กทม.จะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ 4-5 หมื่นล้านบาท มาชำระหนี้ งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
มหากาพย์หนี้บีทีเอส
หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ในสมัยที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เซ็นขยายสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอส ไปอีก 30 ปี แต่ความพัวพัน และจุดเริ่มต้นของหนี้ก้อนใหญ่กลับอยู่ที่การก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ล้ำเข้าไปในปริมณฑล และการจ้างเดินรถที่ถูกโอนมาให้ กทม.ทั้งหมดแบบสมบูรณ์ภายใต้การใช้กฎหมาย ม.44
หลังจากที่ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-อ่อนนุช รถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการก่อสร้างส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งยื่นเข้าไปในจ.ปทุมธานี และแบริ่ง-สำโรง ที่กินพื้นที่เข้าในจ.สมุทรปราการ ซึ่งส่วนต่อขยายที่เพิ่มเติมมานี้เองเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ กทม. ต้องแบกภาระหนี้ก่อนใหญ่
เนื่องจากที่ผ่านมา กทม. ติดเงื่อนไขไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลได้ รัฐบาลจึงมีมติให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทน แต่เมื่อการก่อสร้างระบบโครงสร้างเสร็จสิ้น ประชาชนต้องเปลี่ยนขบวนระหว่างจุดต่อขยาย ในปี 2558 คสช. มีมติให้ กทม.เป็นผู้เดินรถ เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการ และนี่คือจุดเริ่มต้นในการแบกรับหนี้สินก้อนโต
ประมาณกลางปี 2565 บีทีเอสเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง เพื่อทวงหนี้ กทม. 41,710 ล้านบาท หลังจากนั้น นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ออกมาทวงหนี้อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกผ่านการเผยแพร่คลิปวีดิโอ หลังจากที่ กทม.ค้างจ่ายเงินมานานกว่า 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-2565 พร้อมกับยืนยันว่าไม่เคยร้องขอให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี เพียงแต่ต้องการให้ ลูกหนี้จ่ายหนี้คืนเท่านั้น
และในปี 2566 พนักงานบีทีเอสยังได้รวมตัวกันเดินทางไปติดตามทวงนี้ถึงทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับขู่ว่าจะหยุดเดินรถ เพื่อประท้วงที่รัฐบาล และกทม.ไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างอยู่ และต้องการให้รัฐบาลดำเนินการชำระหนี้ที่ค้างจ่ายค่าเดินรถให้ก่อน เพราะที่ผ่านมา บีทีเอสเดินรถเพื่อให้บริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ
จากนั้นนายคีรีจึงเข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อตกลงจะใช้เงินสำรองตัดจ่ายของกทม.มาใช้เฉพาะหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนหนี้สินอีกกว่า 30,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งไฟฟ้าและเครื่องกล นั้น ต้องรอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ถูกตีตก 3-4 ครั้ง นำวาระเข้า-ออก เหตุผลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่เห็นด้วย อาจเพราะมีประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่สมปรารถนา
ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย โดยมีมูลหนี้แบ่งเป็น
1.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199 ล้านบาท
2.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786 ล้านบาท
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.