เจาะกลยุทธ์ธุรกิจ TTB ปี 67 มุ่งทรานส์ฟอร์ม ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้า

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ในปี 2567 ธนาคารเดินหน้า LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า โดยเร่งทรานส์ฟอร์ม (Transform) องค์กรแบบรอบด้าน มุ่ง 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

1. Digital Transformation ธนาคารได้จัดตั้งทีมดิจิทัลขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าพัฒนาแอป ttb touch และ ttb business one ภายใต้คอนเซ็ปต์ Humanized Digital Banking เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าทั้งรายย่อยและธุรกิจ อีกทั้งต่อยอดโซลูชัน Beyond Banking ที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์กับลูกค้าได้อย่างรอบด้าน ซึ่งถือเป็นการวางกลยุทธ์สร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลขององค์กรเพื่อสร้าง New Business Model ใหม่ๆ

2. Revenue Model Transformation เริ่มต้นจากการนำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคารขึ้นมาอยู่บนแอป ttb touch เพื่อให้ลูกค้าสามารถสมัครใช้ได้สะดวกสบายมากขึ้น และปัจจุบันธนาคารได้นำ Personalized AI Engine มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษแบบเฉพาะบุคคล หรือ Segment-of-One 

พร้อมกับการผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำของธนาคารมุ่งเน้นเสริมสร้างให้เกิด Ecosystem Play เพื่อส่งมอบโซลูชันและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ตรงใจ ช่วยให้ลูกค้าแต่ละ Ecosystem มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นแบบรอบด้านในทุกช่วงเวลา 

3. Channel & Process Transformation ธนาคารต้องการยกระดับความสะดวกสบายของลูกค้าในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการส่งมอบ Digital-First Experience ซึ่งขณะนี้ 94% ของธุรกรรมที่สาขา ลูกค้าสามารถเปลี่ยนมาทำธุรกรรมได้ผ่านแอป ttb touch 

และที่ผ่านมาธนาคารมุ่งเน้นให้พนักงานสาขาเป็น Digital Ambassador แนะนำให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านแอปฯ เพื่อความสะดวก ลดเวลาการเดินทางไปสาขา และปรับเปลี่ยนบทบาทพนักงานให้เป็นที่ปรึกษาและให้บริการในธุรกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น พร้อมยกระดับสาขาให้เป็น Digital Branch ที่มีเครื่องมือดิจิทัลในการอำนวยความสะดวก และให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ

4. Organizational Transformation เพื่อให้ธนาคารมีศักยภาพในการ Make REAL Change อย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนทั่วทั้งองค์กรในช่วงที่ผ่านมา โดยสร้างทีมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง หรือ ttb spark เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพทางด้านดิจิทัลอย่างเต็มที่ผ่านการพัฒนาแอป ttb touch และทีม ttb spark academy ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ และทดลองฝึกงานด้าน Tech & Data 

รวมถึงการพัฒนา (Up-skill) และยกระดับทักษะ (Re-skill) ให้กับบุคลากรทั้งองค์กรให้มีความเชี่ยวชาญในทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าและการธนาคารในโลกอนาคต เพื่อให้ธนาคารสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ การ Transform เป็นการนำดิจิทัลมาดูแลลูกค้าทุกกลุ่มในทุกช่วงชีวิต ด้วยงบลงทุนด้านดิจิทัลปีละกว่าพันล้านบาท แต่ไม่กระทบงบกำไร-ขาดทุน ผ่านกลยุทธ์ Ecosystem Play ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ โดยเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในการนำเสนอโซลูชันต่างๆ ที่มากกว่าการธนาคาร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร ได้แก่ 

1. คนมีรถ ช่วยดูแลจัดการทุกเรื่องเกี่ยวกับรถ ผ่านฟีเจอร์ My Car ทั้งการจ่ายสินเชื่อ ซื้อ-ต่อประกันรถ ต่อ พ.ร.บ. / ภาษีรถ เติมเงิน-เช็กยอด Easy Pass มอบสิทธิประโยชน์ เพื่อการดูแลรถจากพันธมิตรชั้นนำ รวมถึงยังสามารถเลือกขายรถผ่านลานประมูล

สำหรับลูกค้าที่อยากซื้อรถ สามารถเช็กสุขภาพเครดิตผ่านฟีเจอร์ My Credit ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อประเมินวงเงินสินเชื่อและสมัครสินเชื่อได้ทันที พร้อมเลือกซื้อรถมือสองคุณภาพดีผ่าน Roddonjai.com มีรถให้เลือกร่วม 16,000 คัน จากดีลเลอร์และพันธมิตรชั้นนำกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าให้ความไว้วางใจซื้อรถจาก Roddonjai.com ไปแล้วกว่า 12,000 คัน และที่สำคัญที่สุด หากลูกค้า มีปัญหาชีวิตติดขัด รถคุณก็ช่วยได้ด้วยสินเชื่อรถแลกเงิน ทีทีบี ไดรฟ์ ที่สมัครได้ง่าย ๆ ผ่านแอป ttb touch

2. คนมีบ้าน ช่วยจัดการเรื่องบ้านแบบครบวงจร ตั้งแต่เรื่องจุกจิกรายเดือน ด้วยฟีเจอร์ My Home ที่รวมการจ่ายบิลเกี่ยวกับบ้านไว้ที่เดียว พร้อมทั้งบริการแจ้งเตือนล่วงหน้าไม่ให้ลืมจ่าย และยังสมัครสินเชื่อบ้าน ผ่านแอป ttb touch ได้ 

3. พนักงานเงินเดือน ช่วยเติมเต็ม ด้านการใช้จ่ายให้คุ้มค่ามากขึ้น นอกจากจะมีบัตร ttb all free ฟรี! กด โอน จ่าย เติม ยังให้ลูกค้าสามารถถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรจากตู้เอทีเอ็มธนาคารพันธมิตรได้ฟรี ด้านบัญชีเงินฝากก็มีให้เลือกออมได้หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการทุกกลุ่ม 

พร้อมช่วยให้จัดการหนี้อย่างฉลาด ด้วยโปรแกรมวัดระดับหนี้ (Financial Health Check) โซลูชันรวบหนี้ และในอนาคตจะมีโค้ชปลดหนี้ที่ช่วยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกค้าบัญชีเงินเดือนทีทีบี ทั้งมีความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ได้ในทุกช่วงชีวิต โดยมีพันธมิตรชั้นนำมากกว่า 30 ราย 

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ My Tax บนแอป ttb touch ช่วยพนักงานเงินเดือนจัดการเรื่องภาษีให้ง่ายขึ้น พร้อมฟีเจอร์ My Work ที่ช่วยพนักงานลงเวลาเข้า-ออกงาน บริหารจัดการวันลา และคำขอต่างๆ ผ่านแอป ttb touch ได้ ในขณะที่บริษัทจะสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินเดือน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานได้ง่าย มีประสิทธิภาพ พร้อมดูรายงานได้แบบ Real-Time ผ่าน My Work 

4. ลูกค้า Wealth โดย แอป ttb touch จะเป็นผู้ช่วยต่อยอด ความคุ้มค่า-มั่นคง-มั่งคั่ง ผ่านบัตรเครดิต ttb reserve ด้วยการมอบคะแนนสะสมพิเศษรายปีให้กับลูกค้าภายใต้แนวคิด Earn Fast-Burn Smart เพื่อนำไปแลกของรางวัลตามที่ต้องการ รวมถึงสามารถแลกเป็นส่วนลดประกัน หรือกองทุนรวมที่ซื้อกับทีทีบีในรูปแบบเครดิตเงินคืนเข้าบัตรฯ เพื่อต่อยอดความมั่นคงให้ครอบครัว 

นอกจากนี้ ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์การลงทุน ทั้ง Wellness Investment ที่ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คุ้มครองเงินต้น (Principal Protected) และ Foreign Investment ที่เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการลงทุนต่างประเทศ ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) สกุลเงิน US Dollar พร้อมมีทีม Private Banking ที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลให้ลูกค้าสามารถติดต่อได้ง่ายๆ 

“ทีทีบีเชื่อมั่นว่าการทรานส์ฟอร์มทั้งหมดนี้ และเสริมแกร่งด้วยพันธมิตรที่หลากหลายผ่านการสร้าง Ecosystem Play จะทำให้ธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรมากยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าสู่ธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งในวันนี้ และอนาคต” นายปิติ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่สนใจเข้าร่วมจัดตั้งเป็น Virtual Bank เนื่องจากมองว่า Virtual Bank ไม่ใช่คำตอบของลูกค้าในทุกกรณี และสิ่งที่ TTB เป็นอยู่ ก็เป็นการขับเคลื่อนไปสู่ Digital Bank อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ TTB ให้ความสำคัญ คือ การเชื่อมระหว่าง Virtual กับ Physical อยู่บน 2 โลก เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า 

นายปิติ กล่าวว่า ในปีนี้ยังคงเจอสิ่งท้าทาย ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมไปถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบ ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จากมาตราการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สิ้นสุดลง และธนาคารหันมาเน้นขยายสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อเอสเอ็มอี มากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่เชื่อว่าธนาคารสามารถความเสี่ยงได้ 

ส่วนการตั้งสำรองปีนี้คาดจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารมีการตั้งสำรองในระดับสูง ส่งผลให้ coverage ratio ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 155% จากระบบที่เฉลี่ย 130-140% โดยธนาคารเชื่อว่า สำรองระดับดังกล่าวเพียงพอต่อการเพิ่มขึ้น NPL และ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.