คาดเงินบาทวันนี้35.90-36.15ที่เปิดเช้านี้แข็งขึ้นอยู่ที่36บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 35.90-36.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.07 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.95-36.09 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นได้ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS ยังคงมุมมองเดิมว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่านั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นได้แผ่วลงชัดเจน (เราคง Call Short-term peak เงินบาท 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่ได้ประเมินไว้ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์) สะท้อนผ่านการทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอย่างต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุระดับ 36.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจมีลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ แต่ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง) ซึ่งต้องจับตาว่า เงินบาทจะเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม เช่น แรงกดดันจากทางการเมือง เพื่อเร่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรีบลดดอกเบี้ย หรือ โฟลว์ขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หรือไม่ โดยเบื้องต้นเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นผ่านโซนแนวรับ 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่าย หากไม่มีปัจจัยหนุนการแข็งค่าใหม่ๆ ที่ชัดเจน

อนึ่งมองว่า ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB นอกจากนี้ การตอบสนองของผู้เล่นในตลาดต่อรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่สามารถส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน ก็อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดค่าเงินได้

โดยในกรณีที่ ตลาดเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ก็จะทำให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงต่อได้ ในทางกลับกัน หากตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ก็จะสามารถหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในระยะสั้น

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในบรรยากาศปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) สอดคล้องกับสัญญาณการปรับตัวลดลงของสัญญาฟิวเจอร์ส ท่ามกลางแรงกดดันจากการเทขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor เป็นหลัก โดยเฉพาะ Nvidia -4.4% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างไม่แน่ใจว่า รายงานผลประกอบการของ Nvidia ในช่วงหลังตลาดปิดทำการวันพุธนี้ จะส่งผลให้ราคาหุ้น Nvidia ปรับตัวขึ้นต่อได้หรือไม่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรหุ้นกลุ่มดังกล่าวออกมาก่อน ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -0.92% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.60% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อลง -0.10% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ ASML -2.5% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม Healthcare ซึ่งปรับตัวขึ้นได้ดีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบจากความกังวลแนวโน้มอุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมัน ก็กดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นกัน 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันให้ โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะย่อตัวลงบ้างและยังคงแกว่งตัวในกรอบ 4.20%-4.30% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ทั้งนี้ ยังคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในโซนเหนือกว่า 4.20% ถือเป็นระดับที่น่าสนใจ และนักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน โดย นักลงทุนอาจใช้กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือ ETF อย่าง IEF (iShares 7-10 Year Treasury Bond ETF) รวมถึงตราสารที่มี IEF เป็น underlying เพื่อเป็น proxy ในการลงทุนตามมุมมองดังกล่าวได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มทยอยลดสถานะ Long USD ลงบ้าง กดดันให้เงินดอลลาร์มีจังหวะย่อตัวลงเล็กน้อย ทว่าภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังพอช่วยพยุงเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.8-104.2 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี รวมถึงบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น เข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (รับรู้ในช่วง 02.00 น. เช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานการประชุม ECB ล่าสุด เช่นกัน โดยการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB เทียบกับเฟด จะส่งผลต่อทิศทางเงินยูโร (EUR) ได้พอสมควร 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจรายงานผลประกอบการของ Nvidia เป็นพิเศษ และการตอบสนองของราคาหุ้น Nvidia ต่อรายงานผลกำไร ก็จะส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.