มติบอร์ดกสทช.4 เสียง ไม่รับอุทธรณ์ “ไตรรัตน์” คัดค้านมติสรรหาเลขาฯ
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 20 ก.พ. 2567 วาระการอุทธรณ์มติ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการกสทช.และรองเลขาธิการกสทช.กรณีคัดค้านมติบอร์ดในการประชุมวาระพิเศษเพื่อสรรหาเลขาธิการกสทช.เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 โดยมติเสียงข้างมาก 4: 3 ไม่เห็นชอบกระบวนการสรรหาเลขาธิการกสทช.นั้น ที่ประชุมมีมติ 4 เสียง ไม่รับการอุทธรณ์ ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นางสาวพิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และงดออกเสียง 3 เสียง ได้แก่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.,นายต่อพงศ์ เสลานนท์,พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร
โดยที่ประชุมมีมติว่า ไม่เห็นควรรับพิจารณาการอุทธรณ์ เนื่องจากยังไม่มีการแจ้งเป็นมติ และไม่เป็นไปตาม มาตรา 48 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) มาตรา 45 ยังระบุด้วยว่า ห้ามมิให้มีการหยิบยกประเด็นซึ่งที่ประชุมมีมติแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเห็นชอบตรงกันถึงจะให้มีการพิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมติกสทช.เป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้นการอุทธรณ์ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ส่วนที่ 5 การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง มาตรา 48 กรณีคำสั่งของคณะกรรมการต่างๆ คู่กรณีมีสิทธิ์โต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ซึ่งปัจจุบันคืออำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
ทำให้คำอุทธรณ์ที่ยื่นมานี้ ไม่สามารถรับพิจารณาได้ตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แต่ผู้รับคำสั่ง (มติ กสทช.) สามารถดำเนินการตามมาตรา 48 ซึ่งในปัจจุบันคือการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งมาตรา 48 คำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ ให้คู่กรณีมีสิทธิโต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น แต่ถ้าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท สิทธิการอุทธรณ์และกำหนดเวลาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติในกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา
การอุทธรณ์ของนายไตรรัตน์ เป็นการ คัดค้านมติ ซึ่งไม่สามารถทำได้ ไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ ดังนั้นมีสองทางเลือกให้นายไตรรัตน์ หรือ ยื่นอุทธรณ์ขอทบทวนมติ ซึ่งทำได้ และที่ผ่านมาก็มีเอกชนเคยยื่นอุทธรณ์ขอทบทวนมาก่อน ซึ่งบอร์ดกสทช.ก็รับเรื่อง แต่ต้องเป็นการขอทบทวนเพราะมีข้อมูลใหม่ที่บอร์ดยังไม่ได้รับรู้มาก่อน หรือ อีกทางเลือกหนึ่งคือการฟ้องร้องต่อศาล
แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อมูลใหม่ ต้องไม่ใช่ข้อมูลเดิมที่อ้างในหนังสือคัดค้านอุทธรณ์ถึงอำนาจในการสรรหาเลขาธิการกสทช.ที่ระบุว่า ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช.ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.กสทช. เนื่องจากเรื่องดังกล่าว สำนักงานกฤษฏีกา ได้ให้ความเห็นในวิธีการสรรหาเลขาธิการกสทช.แล้วว่า มาตรา 61 เขียนให้เห็นถึงที่มาในการดำรงค์ตำแหน่งเท่านั้น ประธานมีหน้าที่ในการลงนามเท่านั้น แต่กระบวนการสรรหาต้องมาจากกรรมการกสทช.ทั้งหมด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.