เปิด 5 นโยบาย กสทช. “พิรงรอง” ป้องทีวีดิจิทัล สูญพันธุ์

นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งระบบ รวมถึงผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย กสทช.จึงได้วางนโยบาย ด้านกิจการโทรทัศน์ไวั 5 ด้าน  ประกอบด้วย

1.การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังหมดอายุใบอนุญาตในปี 2572 โดยมีแผนจะทำ เนชั่นแนล สตรีมมิ่ง แพลตฟอร์ม  เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวมวีดีโอ สตรีมมิ่ง โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับทางผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และสมาคมโฆษณาแล้ว ต่างเห็นด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีการรวมคอนเทนต์ต่างๆ ให้ง่ายต่อการดูแล และจะมีข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อใช้วางแผนในการซื้อโฆษณาได้ ที่สำคัญเม็ดเงินโฆษณาที่อยู่ในระบบจะไหลเวียนอยู่ในประเทศ แทนที่จะออกไปนอกประเทศเหมือนกับแพลตฟอร์มของต่างชาติ

นโยบาย 2 คือ การกำกับผู้ให้บริการเนื้อหารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดิโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ โอทีที  ซึ่งอยู่ในช่วงดำเนินการ นำโอทีทีเข้าสู่ระบบกำกับดูแล  โดยมีการทำงานร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA โดยแนวทางจะเป็นการกำกับดูแลแบบหลอมรวม เน้นเรื่องเนื้อหา คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและผู้บริโภค รวมถึงศึกษาเรื่องการออกใบอนุญาตว่ามีความจำเป็นหรือไม่

นโยบายที่ 3  การส่งเสริมคอนเทนต์คุณภาพและความหลากหลายสำหรับคนทุกกลุ่ม ด้วยการออกประกาศฯตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ โดยจะใช้งบของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)มาสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตเนื้อหา เพื่อพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่ตลาดโลก  

นโยบายที่ 4  การกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพ โดยนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มามอนิเตอร์ และตั้งคณะกรรมในการตรวจสอบ และประเมินคุณภาพรายการ รวมถึงการให้เรตติ้งสกอร์ กับผู้ประกอบการเพื่อมาลดค่าธรรมเนียมต่างๆ  

นโยบายที่  5 ดำเนินการส่งเสริมสื่อท้องถิ่นและชุมชน ในการผลิตสื่อในภูมิภาค และ สถาบันการศึกษาต่างๆ และทำโครงการสื่อท้องถิ่น ด้วยงบยูโซ่ รวมถึงผลักดันให้เกิดโทรทัศน์ชุมชนในแพลตฟอร์มต่างๆ

เมื่อถึงปี 2572 ใบอนุญาตหมดอายุลง การเปิดประมูลใหม่อาจไม่มีผู้ประกอบการสนใจ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ มีช่องทางออนไลน์ที่ออกอากาศคู่ขนานอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน การให้บริการโอทีที กำลังเข้ามาได้รับความนิยมมากขึ้น คนดูทีวีน้อยลง กสทช.จึงต้องหาช่องทางให้ผู้ประกอบการทีวีอยู่ได้รวมถึงต้องวางแผนสำหรับอุตสาหกรรมทีวีในอนาคตด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.