หุ้นไทยสัปดาห์หน้า1,355-1,410เงินบาทสัปดาห์หน้า35.70-36.30บาท/ดอลลาร์

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทยังคงอ่อนค่า โดยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนครึ่งที่ 36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ 
เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นของตลาด ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง สวนทางเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดอาจต้องยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน และจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยคงไม่เกิดขึ้นเร็วในรอบการประชุม FOMC ใกล้ๆ นี้ (US CPI +3.1% YoY ในเดือนม.ค. สูงกว่าตลาดคาดที่ +2.9% YoY)

นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ายังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกที่ร่วงหลุดระดับ 2,000 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ลงมาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วน และเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ตามจังหวะการกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงมาตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ หดตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดในเดือนม.ค.

ในวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ก.พ. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 12-16 ก.พ. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,343 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 6,113 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,963 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 150 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (19-23 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าที่ระดับ 35.70-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของไทย ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 30-31 ม.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของยูโรโซน และ PMI (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ของญี่ปุ่น อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางปริมาณการซื้อ-ขายที่ค่อนข้างเบาบาง 

หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางปริมาณการซื้อ-ขายที่ค่อนข้างเบาบาง ในขณะที่ตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาคปิดทำการในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยในช่วงต้นสัปดาห์หุ้นไทยมีแรงหนุนจากสัญญาณที่สะท้อนว่า ตลท. เตรียมคุมเข้มการทำธุรกรรม Short selling และ Program trading

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยปรับตัวลงในช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้นักลงทุนประเมินว่า เฟดอาจเลื่อนช่วงเวลาปรับลดดอกเบี้ยออกไปอีก ประกอบกับมีแรงขายหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลังผลประกอบการไตรมาส 4/66 ของผู้ประกอบการรายหนึ่งออกมาน่าผิดหวัง 

โดยหุ้นไทยกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ แม้จะมีแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปในหลายกลุ่มเข้ามาหนุน โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก แต่กรอบการฟื้นตัวยังจำกัด เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามตัวเลขจีดีพีของไทยซึ่งจะประกาศในช่วงต้นสัปดาห์หน้า

ในวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,386.27 จุด ลดลง 0.15% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 36,085.91 ล้านบาท ลดลง 14.02% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.46% มาปิดที่ระดับ 418.19 จุด

สัปดาห์ถัดไป (19-23 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้ามีแนวรับที่ 1,370 และ 1,355 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. ดัชนี PMI เดือนก.พ. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนก.พ. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ ดัชนีราคาผูบริโภคเดือนม.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนก.พ. ของจีน 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.