แนะเงินบาทวันนี้35.45-35.70โดยเปิดเช้าอ่อนลงไปที่35.60บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยแนวทางเงินบาทวันนี้ว่าอยู่ที่ 35.45-35.70 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.48 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.47-35.71 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด

โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม เหลือ 55% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวสู่โซนแนวรับสำคัยแถว 2,000-2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ดี เงินบาทมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ส่งผลให้เงินยูโร (EUR) รีบาวด์แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ที่สะท้อนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายพื้นที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ส่วนตลาดแรงงานก็ชะลอตัวลง ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มไม่มั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ “เร็วและลึก” ตามที่คาดหวัง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ตามการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการปรับตัวลดลงของบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้ง ทองคำและน้ำมันดิบ ซึ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยเข้าซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวในจังหวะปรับฐาน โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ดี มองว่า ควรจับตาแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของทางฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ควบคู่ไปด้วย เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE ยังคงสะท้อนว่า ทั้งสองธนาคารกลางก็อาจไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน ภาพดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ซึ่งจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ยังมองว่า ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งมีน้ำหนักราว 14% ในการคำนวณดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทำให้การผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่นก็อาจส่งผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้พอสมควร โดยในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญญี่ปุ่น โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ CPI เพื่อประเมินความเป็นไปได้ ของการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในปีนี้ โดยหากตลาดลดโอกาสที่ BOJ จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นผันผวนอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องจากระดับปัจจุบันแถว 148 เยนต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญปัจจัยกดดันอ่อนค่าพอสมควร ทว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยจนเข้าใกล้จุดต่ำสุดก่อนหน้า พร้อมกับการอ่อนค่าพอสมควรของเงินบาทในช่วงนี้ ก็อาจเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติรอจังหวะทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยในช่วงปรับฐานอีกครั้งได้ ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยบ้าง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

ดังนั้นจึงประเมินว่า แนวต้านเงินบาทอาจยังอยู่ในโซน 35.70-35.80 บาทต่อ (ใกล้กับโซนที่เราประเมินเชิง Valuation ว่าเงินบาท Undervalued พอสมควร) ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังขาปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่า ทำให้โซนแนวรับยังอยู่แถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไปคือ 35.00 บาทต่อดอลลาร์)

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกอย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด นั้นออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างย่อตัวลงต่อเนื่อง อาทิ Amazon -1.0%, Alphabet -0.7% กดดันให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.56%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -1.13% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มยานยนต์ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Mercedes -3.2%, LVMH -2.8%, Rio Tinto -1.5% นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง กดดันบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นกัน นำโดย Shell -2.3% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ล่าสุดที่ขยายตัวได้ดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยอย่างที่คาดหวัง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.10% และเสี่ยงที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้ หากผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกในปีนี้ โดยการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ดังกล่าว ก็สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็ชะลอการแข็งค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินยูโร (EUR) ที่ได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ซึ่งยังย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของบรรดาเฟดสาขาต่าง ๆ (Fed Beige Book) ก็ไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งมากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังต่อการรีบลดดอกเบี้ยของเฟดอยู่บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.3-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับแถว 2,000-2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอเข้าซื้อทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Raphael Bostic (Voter) และรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 

ส่วนในฝั่งยุโรป เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานการประชุม ECB ล่าสุด และถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ ECB เช่นกัน และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจรวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.