ผวาบจ.ผิดนัดจ่ายหนี้หุ้นกู้กดSETร่วงมองหุ้นไทยสัปดาห์หน้าไม่ผ่าน1,455
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่35.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ โดยเงินบาทยังคงอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย โดยเงินบาทเผชิญแรงขายในช่วงต้นสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแรงหนุนบางส่วนต่อเนื่องจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด อย่างไรก็ดีเงินบาทดีดตัวกลับมาช่วงสั้นๆ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวลงในช่วงก่อนการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับไปอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ขณะที่แรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน หลังข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด สะท้อนว่า โอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนมี.ค. ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
ในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 ม.ค. 2567) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 8-12 ม.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,238 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,380 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 3,460 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 920 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (15-19 ม.ค. 67) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าที่ระดับ 34.70-35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และงาน BOT Policy Briefing
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนม.ค. 2567 ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. 2566 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 2566 ของยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ จีดีพีไตรมาส 4/66 และเครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ ในเดือนธ.ค. 2566 ด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ โดยรายงานข่าวเกี่ยวกับการขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ของบจ. บางแห่งกดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม ส่งผลให้มีแรงขายหุ้นในหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระแสข่าวที่วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ปรับลดน้ำหนัก (Downgrade) หุ้นกลุ่มแบงก์ของไทยยังเป็นปัจจัยลบที่เข้ามากดดันหุ้นกลุ่มแบงก์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มแบงก์ก่อนประกาศงบไตรมาส 4/66 เข้ามาหนุน
ในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,413.53 จุด ลดลง 1.01% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,215.73 ล้านบาท ลดลง 11.99% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.26% มาปิดที่ระดับ 420.57 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,400 และ 1,390 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,435 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนละอังกฤษ รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.